เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดพร้อมปรับเปลี่ยน

  •  
  •  
  •  
  •  

เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดพร้อมปรับเปลี่ยน แต่ขาดแหล่งพันธุ์ องค์ความรู้ แหล่งรับซื้อ เตือนต้องรู้เท่าทันต้นทุน และใช้ตลาดนำการผลิต

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตอนนี้สับปะรด เกิดวิกฤติทางผู้ผลิตสับปะรด สมาคมสับปะรดทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตกได้เสนอประเด็นปัญหามาที่สภาเกษตรกรแห่งชาติและมอบหมายให้คณะทำงานด้านพืชไร่จัดการสัมมนาเพื่อหาทางออกและข้อเสนอแนะสู่รัฐบาลว่าแนวทางการขับเคลื่อนจะทำกันอย่างไร  ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาที่ราคาสับปะรดตกต่ำเกิดจากวิกฤตที่ไม่สามารถควบคุมได้  เนื่องจากสับปะรดปี 60 ผ่านแล้งมาก่อนทำให้มีราคาสูงขึ้นเกษตรกรปลูกกันมากขึ้น กอปรกับฤดูหนาวต่อเนื่องยาวนานทำให้สับปะรดออกมากผิดปกติจึงทำให้ราคาตกต่ำเป็นประวัติการ 

ดังนั้นสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้กำหนดลดปริมาณที่มีอยู่ลงไป โดยส่งเสริมเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดที่ไม่มีการปลูกสับปะรดให้บริโภคผลสดมากขึ้น  ซึ่งจะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะดึงราคาให้สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปใกล้ถึงฤดูกาลผลผลิตออก สภาเกษตรกรแห่งชาติจะทำบันทึกถึงส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้มาตรการการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในพื้นที่ที่ไม่มีการปลูกสับปะรดต่อไป

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นสภาเกษตรกรฯได้สรุปประเด็นปัญหาตามกรอบยุทธศาสตร์นโยบายสับปะรดได้เดินไว้ด้วยเห็นพ้องว่าควรกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ 1  ได้แก่ในรอบรัศมี 100 กิโลเมตรรอบโรงงานผลิตควรเป็นพื้นที่ผลิตส่งโรงงาน  พื้นที่เป้าหมายที่ 2  คือนอกรัศมี 100 กิโลเมตรโรงงานผลิต หรือในเขตภาคอีสานและเขตภาคเหนือบางส่วนควรเป็นพื้นที่ผลิตเพื่อบริโภคผลสดหรือการแปรรูป และควรปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมแปรรูปผลิตเป็นสับปะรดอบแห้ง ไซรัป หรือน้ำสับปะรดร้อยเปอร์เซ็นต์จะทำให้เพิ่มมูลค่าได้ โดยการแยกส่วนหรือพื้นที่ปลูกจากกันหรือจัดโซนนิ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการจัดเวทีรับฟังเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนแต่ ณ วันนี้เกษตรกรไม่รู้จะปรับเปลี่ยนยังไงเนื่องจากขาดแหล่งพันธุ์ , แหล่งองค์ความรู้  และแหล่งรับซื้อ  ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้าช่วยเหลือในเรื่องที่เกษตรกรต้องการอย่างแท้จริงเพื่อยกระดับคุณภาพของผลสดให้มีคุณภาพสูงเพื่อการส่งออกหรือการบริโภคภายในไปสู่ตลาดยุโรป ตลาด EU  ตลาดสหรัฐ และตลาดจีนซึ่งมีความต้องการสูงโดยการถนอมอาหารจะทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างสูงสุดด้วย

[adrotate banner=”3″]

เกษตรกรต้องรู้เท่าทันการผลิตสินค้า การคำนวณต้นทุนการผลิต ศักยภาพของสินค้าที่จะผลิต ความต้องการอุปโภค-บริโภค ตลาดอยู่ที่ไหนให้นึกถึงตลาดนำการผลิตก่อน แล้วย้อนมองตัวเองมีองค์ความรู้ในการผลิตนั้นหรือไม่ การผลิตออกมามากไม่ใช่การทำให้ราคาสูงแต่เป็นการลดราคาผลผลิตตัวเอง ตลาดเสียหาย ต้องฝากพี่น้องเกษตรกรให้ตระหนักเท่าทันเรื่องภาวะการตลาด ภาวะการผลิตด้วย ”  นายเติมศักดิ์ กล่าว