รุกเกษตรกรรมยั่งยืนปี 62ขับเคลื่อน 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคส่วน

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ระดมกำลังขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนปี 62 เดินหน้าเข้มข้นในพื้นที่ กำหนด 8 แนวทาง ที่จะก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมใช้พลังขับเคลื่อน 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคส่วนความร่วมมือ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 5/2561 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า รัฐบาลได้กำหนดการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นแผนพัฒนาภาคเกษตรที่สำคัญ ให้สามารถพัฒนาต่อไปอย่างเป็นระบบ มีการประสานการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการขยายผลการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม  นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคให้ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. 2560-2564 ให้มีการเสริมสร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืนโดยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า แม้จะมีการสร้างกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงได้มีแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ปี 2562 ที่จะก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีการดำเนินงาน ดังนี้ 1. เน้นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ 2.ใช้พลังขับเคลื่อน 3 ระดับ (ชาติ จังหวัด พื้นที่) 5 กลไก (ประสานงาน ยุทธศาสตร์ชาติ จัดการความรู้ ติดตามความต่อเนื่อง และสื่อสารสังคม) 7 ภาคส่วนความร่วมมือ (รัฐ วิชาการ ประชาชน เอกชน ประชาสังคม สื่อ และศาสนา)

[adrotate banner=”3″]

3.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เชื่อมต่อภูมิปัญญาเกษตรกรรุ่นเดิม 4. สร้างพื้นที่ต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน 6 รูปแบบ 5. พัฒนาสู่การรับรองมาตรฐานทุกระดับ 6. สร้างตลาดสีเขียวทุกระดับ อาทิ ตลาดชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ 7. เชื่อมโยงแหล่งทุนกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ และ 8. ขยายสู่ตลาดโมเดิร์น เทรด

ทั้งนี้ ในการสร้างพื้นที่ต้นแบบของการดำเนินงานร่วม 7 ภาคีนั้น ได้เลือกพื้นที่นำร่อง 28 จังหวัดที่ได้กำหนดไว้เมื่อปี 2561 ได้แก่ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคอีสาน 13 จังหวัด ภาคกลาง 3 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ดำเนินงานตามกรอบแนวทางที่กำหนดไว้ คือ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนแต่ละภาค

ทั้งนี้เพื่อติดตามการทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วม จัดทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับระบบกลาง สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างต้นแบบ/แหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนคนรุ่นใหม่ พร้อมติดตามประเมินผล และสนับสนุน ประสานภาคีที่จำเป็น ตลอดจนจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิด สร้างคู่มือการทำงาน และสร้างทีมวิชการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาระดับพื้นที่

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอร่าง “โครงการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยพลังประชารัฐ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว และเพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยต้องมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ (4 ปี)