มกอช. ดันมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่แปลงใหญ่

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช. ดันผลงานขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่แปลงใหญ่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้ได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดทั้งภายในประเทศและในตลาดโลก ลดปัญหาล้นตลาด-ราคาตกต่ำ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร พร้อมมุ่งปรับพื้นที่และเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานในปีหน้าเพิ่มมากขึ้น

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดแผยว่า ปัจจุบันการแข่งขันสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น ประกอบปัจจัยภายในประเทศที่มักจะประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดส่งผลให้ราคาตกต่ำเป็นประจำทุกปี มกอช.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านมาตรฐานและการรับรองระบบงานในสินค้าเกษตรและอาหารไทย จึงได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้แผนการพัฒนาการเกษตร 5 ปี (2560-2564) พุ่งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดโลก

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า โดย ปี 2561 มกอช. ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ให้เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพิจิตร พัทลุง อุบลราชธานี ราชบุรี พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ลพบุรี ศรีสะเกษ และขอนแก่น เพื่อยกระดับเกษตรกรในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่าเพิ่มของผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ด้วยการปรับพื้นที่และเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ให้เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมด้านการเกษตร/ผู้ตรวจประเมิน/ผู้ช่วยผู้ตรวจประเมิน/ที่ปรึกษาเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวเสริมสุข กล่าวถึงผลดำเนินงานขับเคลื่อนแปลงใหญ่ในรอบปี 2561 ด้วยว่า มกอช.ได้ร่รวมกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปขับเคลื่อนในเรื่องการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่ทั่วประเทศใน 11 จังหวัดดังกล่าว มีโครงการเด่นๆ สำหรับในปีนี้ ได้แก่ โครงการพัฒนาโรงคัดบรรจุ/โรงรวบรวม GMP โครงการพัฒนาโรงสีข้าว GMP โครงการพัฒนาเครือข่าย Q อาสาและโครงการพัฒนาเครือข่าย Q อาสา การพัฒนาเพื่อสร้างต้นแบบและยกระดับการผลิตข้าวสาร Q ครบวงจรซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 เป็นต้น โดยบทบาทหลักของมกอช.จะเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ อาทิ ส่งเสริมผู้ผลิตหรือผู้รวบรวมผักและผลไม้สดและเอกชนกว่า 100 รายจากจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตผักและผลไม้ที่สำคัญ เพื่อเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการผลิตพืชผักปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP มาตรฐาน GMP การตามสอบด้วย QR Code และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการสุ่มตรวจสารพิษด้วย Test Kit เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และนำไปวางแผนและควบคุมดูแลการผลิตพืชผักและผลไม้ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยมากขึ้น สอดคล้องตามมาตรฐาน มกษ. ซึ่งในอนาคตหากเกษตรกรและผู้ประการผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวมากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ที่สำคัญจะผลักดันให้ผักและผลไทยเป็นที่ยอมรับของของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยผักและผลไม้สดเป้าหมาย ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน ส้มโอ ฝรั่ง ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี เป็นต้น

นอกจากนี้ มกอช.ยังได้มอบป้ายโครงการพัฒนาโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสําหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ.9035) ในพื้นที่แปลงใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ให้แก่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดอาหารปลอดภัย กรีนมาร์เก็ต พิษณุโลก จำกัด จ.พิษณุโลก ซึ่งสินค้าจากโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองสามารถตามสอบได้ด้วยเทคโนโลยีการใช้สมาร์ทโฟนสแกนเครื่องหมาย “คิวอาร์ เทรซ” (QR Trace) และเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้การยอมรับ ซึ่งในอนาคต มกอช. มีแผนที่จะผลักดันสินค้าภายใต้ระบบดังกล่าวเข้าสู่ตลาด ดีจีทีฟาร์ม หรือ www.dgtfarm.com เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและขยายทางเลือกในการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยของเกษตรกร และให้ผู้บริโภคสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือช้อปปิ้งสินค้าเกษตรและอาหารได้โดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วน เลขาธิการ มกอช. กล่าวถึงผลสำเร็จในการดำเนินงานแปลงใหญ่ในปีที่ผ่านมาเพิ่มเติมว่า มกอช.ได้เข้าไปขับเคลื่อนในเรื่องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ผลิตหรือผู้รวบรวมผักและผลไม้ภายใต้เกษตรแปลงใหญ่ ในพื้นที่ 46 จังหวัด นำผลผลิตคุณภาพมาตรฐานเข้าสู่โรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสแข่งขันทางการตลาดสูงขึ้น อีกทั้งยังได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงมาตรฐาน GAP สำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) และมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ.9035-2553) ให้แก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ผลิตหรือผู้รวบรวมผักและผลไม้ และภาคเอกชนกว่า 100 รายในพื้นที่ 25 จังหวัด อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร แพร่ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุทัยธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งควบคุมดูแลการผลิตพืชผักและผลไม้ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น