ย้ำชัดนาปรังปี 61/62 ต้องลดพื้นปลูกข้าวเป็นพืชอืนที่รายได้ดีกว่า

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าโครงการปลูกพืชหลังนาสร้างรายได้ให้เกษตรกรผ่านกลไกสหกรณ์ ย้ำเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร ย้ำนโยบายที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2561/62 ต้องลดพื้นปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าว ให้มาปลูกพืชชนิด ที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง

          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมชี้แจงโครงการปลูกพืชหลังนาสร้างรายได้ให้เกษตรกรผ่านกลไกสหกรณ์ ณ ห้องประชุมแชฟไฟร์ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า การประชุมครั้งนี้ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งชลประทานจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน และสหกรณ์จังหวัด มากกว่า 450 คน เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน

[adrotate banner=”3″]

          ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2561/62 โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าว ให้มาปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การประสานภาคเอกชนในการเข้ามารับซื้อผลผลิต การกำหนดราคาขายที่เป็นธรรม และการจัดทำประกันภัยพืชผล โดยจะยึดแนวทางการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตร ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” พร้อมทั้งใช้กลไกสหกรณ์ในพื้นที่เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตของเกษตรกรตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

           ล่าสุดได้เริ่มต้นนำร่องโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังนาไปแล้ว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก จำนวน 5,800 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 415 ราย เป็นสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด และพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด พร้อมทั้งได้ประสานบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เบทาโก กับบริษัท ซีพีเอฟ เข้ามารับซื้อข้าวโพดจากสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยกำหนดราคารับซื้อข้นต่ำที่ความชื้น 30% กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกข้าวโพดไร่ละ 7,500 บาท หักทุนแล้วจะเหลือกำไรไร่ละ 4,000 บาท ซึ่งได้รายได้ดีกว่าปลูกข้าวถึงไร่ละประมาณ 2,000 บาท 

            นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาให้เกษตรกร โดยประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเกษตรจังหวัดเข้ามาจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรสมาชิกเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การคัดเลือกพันธุ์เพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และรอบการผลิต ในส่วนสถานีพัฒนาที่ดินจะเข้ามาช่วยดูสภาพดินในพื้นที่ว่าเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด และจะบำรุงรักษาพื้นที่ให้ปลูกพืชได้ผลผลิตดีได้อย่างไร และชลประทานจังหวัดเข้ามาช่วยดูแลระบบน้ำ รวมทั้งสหกรณ์ยังมีหน้าที่ในการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร การตรวจติดตามคุณภาพผลิต จนถึงการบริหารจัดการตลาด โดยสหกรณ์เป็นจุดรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก

         ในปีนี้สหกรณ์การเกษตรในหลายพื้นที่ได้รับงบอุดหนุนกลางปีจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อสร้างอุปกรณ์การตลาดหลายรายการ เช่น การปรับปรุงยุ้งฉาง ลานตาก และเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งสามารถรองรับผลผลิตในโครงการดังกล่าวและให้บริการแก่สมาชิกได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้เกษตรกร และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์การเกษตรในด้านการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร การประสานภาคเอกชนเพื่อเพิ่มช่องทางตลาดและดูแลผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในการขายผลผลิตการเกษตรให้กับภาคเอกชน พร้อมทั้งให้เน้นย้ำเกษตรกรสมาชิกควบคุมดูแลคุณภาพผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น

              ส่วนการสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% วงเงิน 3,000 บาทต่อไร่ ให้สหกรณ์กู้ยืมไปให้สมาชิกกู้ยืมต่อ เพื่อนำไปเป็นทุนในการปลูกข้าวโพด และสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถกู้ยืมไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ได้เช่นกัน โดยสามารถติดต่อขอกู้ผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คาดว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหลังนา โดยหันมาปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ และใช้หลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งจะช่วยทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด ขณะที่เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากในอดีต ซึ่งจะสร้างความมั่นคงในอาชีพการเกษตรมากขึ้น