“ลักษณ์”ชี้ 3 ช่องทางระบายลำไยภาคเนือกว่า 6.5 แสนตัน

  •  
  •  
  •  
  •  

“ลักษณ์” ชี้ 3 ช่องทางแก้ปัญหาผลผลิตลำไย ในภาคเหนือตอนบน “กระจายผลผลิตออกนอกพื้น-แปรรูป –ส่งออกเป็นผลสด”เน้นที่จีน พร้อมสานพลังประชารัฐ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร บริหารจัดการลำไยเชิงคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ “การบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ” ณ จังหวัดลำพูน ว่า จากสถานการณ์ลำไยภาคเหนือ ปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตลำไยภาคเหนือออกสู่ตลาดรวม 654,329 ตัน โดยเป็นผลผลิตลำไยในฤดู 381,498 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.01 (ปี 2560 ผลผลิต 377,679 ตัน) และผลผลิตลำไยนอกฤดู 272,831 ตัน มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก และแพร่

     

        จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ มีผลผลิต จำนวน 137,219 ตัน (ร้อยละ 36.23) และลำพูน มีผลผลิต จำนวน 125,120 ตัน (ร้อยละ 33.04) สำหรับสถานการณ์ด้านราคา อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากได้มีการพัฒนาคุณภาพของลำไย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด และมีผู้ประกอบการมีความประสงค์ที่จะซื้อลำไยเป็นจำนวนมาก

        อย่างไรก็ตาม แนวทางบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ ได้มีการนำเอาแนวทางของนายกรัฐมนตรีในการรวมพลังประชารัฐ โดยเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (fruit board) ได้นำแนวทางนี้มาใช้ในการบริหารจัดการลำไยภาคเหนือตอนบน โดยให้ทางจังหวัดทำแผนบริหารจัดการลำไยของจังหวัด ใน 3 ช่องทางหลัก คือ 1) การกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ที่ไม่มีการเพาะปลูก โดยเป็นการสนับสนุนให้บริโภคผลสดภายในประเทศ 2) การแปรรูป ทั้งลำไยอบแห้งและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และ 3) การส่งออกเป็นผลสดไปยังต่างประเทศ โดยมีตลาดใหญ่ที่ประเทศจีน

         ทั้งนี้ ทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนทั้ง 8 จังหวัด ได้เอาแนวทางดังกล่าวมาทำแผนบริหารจัดการภายในจังหวัด โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนในจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการตั้งแต่ต้นฤดู โดยมีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ โดยให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวอลรูมในการติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ หากปัญหาใดที่เกินกว่าในพื้นที่จะบริหารจัดการได้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (fruit board) จะเข้ามาบริหารจัดการต่อไป

[adrotate banner=”3″]

          นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำงานในเชิงรุก โดยมีการรณรงค์ร่วมกับพี่น้องเกษตรกรให้พัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไยให้ได้มาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ตรงตามความต้องการของตลาด โดยมีหลักการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้ลำไยออกนอกฤดู ซึ่งภาพรวมผลผลิตลำไยในเขตภาคเหนือตอนบน สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 40 ทำให้ผลผลิตลำไยมีการกระจายตัว

           2) การพัฒนาคุณภาพของลำไย ให้มีระดับของเกรดที่สูงขึ้น โดยวิธีการตัดแต่งช่อลำไยให้มีปริมาณที่มีความเหมาะสม จากการเปรียบเทียบใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ทำให้มีสัดส่วนเกรดเพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 สัดส่วนเกรด AA : A : B เท่ากับ 50 : 45 : 5 เพิ่มขึ้นเป็นเกรด AA : A : B เท่ากับ 60 : 40 : 0 จากเกษตรกรที่เข้ามาร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ลำไย) และถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6,543 ราย ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป เพื่อให้ลำไยในเขตภาคเหนือเป็นลำไยที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

         และ 3) การลดต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมให้มีการตัดแต่งกิ่งเป็นทรงพุ่มเตี้ย ทำให้มีความสะดวกในการเก็บเกี่ยว รวมถึงไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันที่ยาวเกินไป นอกจากนี้ ยังมีการนำร่องในการค้าขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ด้วยระบบ e-Market ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ Thailandpostmart.com ซึ่งจะเป็นการขายส่งตรงถึงมือผู้บริโภค อันเป็นสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม และผู้บริโภคสามารถเลือกพันธุ์ที่จะรับประทานได้ตามความต้องการ ทั้งพันธุ์อีดอ พันธุ์สีชมพู และพันธุ์เบี้ยวเขียว ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการให้บริการลดค่าขนส่งจากสวนถึงมือผู้บริโภคที่เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า ภายใน 24 ชั่วโมง