ระดมมันสมองถกร่างมาตรฐานเมล็ดพริก

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช.ระดมนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรการสุขอนามัยพืชจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น หารือ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ “ร่างมาตรฐานวิธีการสุขอนามัยพืชสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์พริก” เน้นศัตรูพืชในพริก การผลิตเมล็ดพันธุ์พริก เพื่อให้อยู่ในแนวทางที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดการค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบาย พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (SEED HUB) เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีแผนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ไว้ 2 ด้าน คือ 1) การเพิ่มศักยภาพการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไทย 2) การต่อยอดความมั่นคงและความยั่งยืนของเมล็ดพันธุ์ไทยในภูมิภาค ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการผลิตเม็ดพันธุ์ เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะข้าวโพดสัตว์เลี้ยงสัตว์ และพืชผัก

ทั้งนี้ การค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศนอกจากจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพันธุ์พืชแล้ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสุขอนามัยพืช ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standard for Phytosanitary Measures – ISPMs) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention – IPPC) เนื่องจากเป็นมาตรการที่ประเทศผู้นำเข้า จะนำมาใช้เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ มิให้เข้ามาแพร่ระบาดและสร้างความเสียหายในประเทศ

เลขาธิการกล่าวต่อว่า การนำมาตรฐานไปปฏิบัติจำเป็นต้องพิจารณา ถึงวิธีปฏิบัติด้านสุขอนามัยพืชที่เฉพาะเจาะจงกับพืชแต่ละชนิด เนื่องจากมีความเสี่ยงศัตรูพืชที่ต่างกัน ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก (Asia and Pacific Plant Protection Commission –APPPC) ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ณ เมืองโรโตรัว ประเทศนิวซีแลนด์ ในการจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุขอนามัยพืชระดับภูมิภาค (Regional Standard For Phytosanitary Measure – RSPM) และในที่ประชุมครั้งนั้น ประเทศสมาชิก APPPC ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยดำเนินการตามที่เสนอได้ โดยเห็นควรให้จัดทำมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกก่อน เป็นฉบับแรก

“เพื่อให้มาตรฐานที่จะกำหนดขึ้นนั้น อยู่ในแนวทางที่ผู้ผลิตในประเทศสามารถปฏิบัติได้ มกอช. และกรมวิชาการเกษตร จึงยกร่างมาตรฐานวิธีการสุขอนามัยพืชสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกขึ้น และเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเสนอแนะ ให้ข้อคิดเห็นโดยมีเป้าหมายให้ได้ร่างมาตรฐานวิธีการสุขอนามัยพืชสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์พริก ที่สามารถนำไปสกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปเสนอคณะกรรมการวิชาการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก APEC พิจารณาในลำดับต่อไป” นางสาวเสริมสุข กล่าว

[adrotate banner=”3″]

สำหรับการจัดทำมาตรฐานฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้องค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) กำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยพืชสำหรับลดความเสี่ยงศัตรูพืชจากการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ ด้วยการรับรองกระบวนการผลิตที่มีการควบคุมและลดความเสี่ยงศัตรูพืชในขั้นตอนต่างๆ ของการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่แหล่งที่มาของพ่อแม่พันธุ์ การตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ การตรวจสอบในแปลงปลูก จนถึงการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเมล็ดพันธุ์ที่ส่งออก นำเข้า หรือนำผ่าน ปลอดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงที่จะติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้