ทำนายุคใหม่”การตลาดนำการผลิต”ชุบชีวิตเกษตรกรไทย ประเดิมที่อุบลฯ

  •  
  •  
  •  
  •  

       เปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการข้าวยั่งยืน “โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย” ประเดิม ณ ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแห่งแรกของโครงการนี้ โดยมีนายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอวารินชำราบ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

                                               ฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์

   “โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย”เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับกรมการข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด และภาคีอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย (Market Oriented Small- holder Value Chain : MSVC)

         ถือเป็นโครงการ ต่อจากโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (BRIA) ที่สิ้นสุดโครงการไปแล้ว (2557-2560) โดยดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 2561-2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและยกระดับการผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) และเพิ่มมูลค่าข้าว

           วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) นำไปสู่การยกระดับคุณภาพข้าว การบริโภคข้าวที่ปลอดภัยและแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกหรือภาวะโลกร้อนจากการผลิตข้าว และเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับเกษตรกร/องค์กรในการผลิตข้าวให้ยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง และมีตลาดรองรับที่ชัดเจน

          การเริ่มต้นของโครงการนี้ในปี2561 จะดำเนินการที่ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 7 อำเภอ 29 กลุ่ม ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์จะพิจารณาดำเนินการในปีต่อไป

 

           นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย GIZ กล่าวว่า โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย” ถูกดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) นำไปสู่การยกระดับคุณภาพข้าว การบริโภคข้าวที่ปลอดภัยและแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในการผลิตข้าวให้ยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง และมีตลาดรองรับที่ชัดเจน 

[adrotate banner=”3″]

           ทั้งนี้เนื่องจากว่า การพัฒนาของโลกในมิติต่างๆทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ เสื่อมโทรม เกิดมหาอุทกภัย น้ำท่วม ภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าชเรือนกระจก สาเหตุหนึ่งมาจาก  การผลิตข้าวที่เป็นอาหารของมนุนษ์  ที่ขาดองค์ความรู้ความเข้าใจ และไม่ระมัดระวังดูแลรักษาธรรมชาติ

          จะเห็นได้ว่าหน่วยงานและองค์กรต่างๆมากกว่า 80 หน่วยงาน ทั่วโลกได้ร่วมกำหนดแนวคิดแผนปฏิบัติและกำหนดมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) ภายใต้ 8 หลักการและข้อกำหนด 46 ข้อ เพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติและนำไปสู่การผลิตข้าวที่ยั่งยืนนั่นเอง

           ด้าน ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ประธานที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีปีนี้ มีพื้นที่เป้าหมาย เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวคุณภาพดี (GAP) ไปสู่มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) นาแปลงใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 7 อำเภอ 29 กลุ่มได้แก่ อำเภอวารินชำราบ เดชอุดม พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ สำโรง นาเยียและอำเภอนาจะหลวย

           ขณะที่ Mr.Satish Thampy บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ จะมุ่งดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ให้แก่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 16,000 ราย ให้ได้ปริมาณผลผลิต 150,000 ตัน ตั้งแต่ปี 2561 -. 2565 รวมถึงขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปิ่นส์ เพื่อยกระดับการเกษตรทั้งในส่วนของประเทศและภูมิภาค โดยผลผลิตที่ได้มาในโครงการนี้ บริษัท โอแลม จะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมด

          นับเป็นอีกหนึ่งโครงการในพัฒนาพัฒนาในการผลิตข้าวยั่งยืนและตามรูปแบบของการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์ในขณะนี้