โอว..มหันตภัยร้าย”ดินเค็ม”รอวันลามทั่วอีสาน(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ

       หากย้อนดูข้อมูลเกี่ยวกับดินเค็มในประเทศไทยนั้น อดีตประเทศไทยประสบปัญหาดินเค็มกว่า 21 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน ถึง 17.81 ล้านไร่ ในพื้นที่ 18 จังหวัด 94 อำเภอ จากพื้นที่ของภาคอีสานทั้งหมด 107 ล้านไร่ และในจำนวนนี้มีพื้นที่ดินเค็มมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ร้อยเอ็ด จ.สกลนคร จ.มหาสารคาม และจ.ขอนแก่น  ซึ่งในส่วนของ จ.ขอนแก่น กินพื้นที่ 1,989,476 ไร่ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาไม่สามารถจะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ บางพื้นที่ยอมทิ้งที่ทำกินจนกลายเป็นพื้นที่ร้าง และเกิดความแห้งแล้ง

            ที่เลวร้ายของดินเค็มเหล่านี้นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ เล่าว่า หากปล่อยไปอันตรายมาก โดยเฉพาะดินเค็มในภาคอีสานซึ่งมีหลายแห่งเป็นดินเค็มจัด ไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้เลย เพราะบนหน้าดินแลเห็นแต่ดอกเกลือ หากปล่อยไปสภาพของเกลือบนหน้าดิน และน้ำเค็มที่ซึมมาจากใต้ดิน เมื่อเกิดฝนตก มีน้ำหลาก จะพัดพาดอกเกลือและน้ำเค็มเหล่านี้ไปยังพื้นที่อื่นที่เป็นดินปกติ ไหลลงในลำธาร เกษตรกรนำน้ำเค็มไปรดต้นไม้ นานวันเข้าทำให้สภาพดินเค็มลามไปทั่วภาคอีสานได้ เพราะมีหลายพื้นที่มีสภาพพร้อมแพร่กระจายความเค็มไปยังพื้นที่อื่นได้

           จากปัญหาเหล่านี้ทำให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกรมพัฒนาที่ดิน พยายามหาแนวทางในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าในบางพื้นที่สามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง จากเดิมที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชผลทางการไม่ได้เลย หรือได้เพียงเล็กจนสามารถปลูกได้ แต่การแก้ปัญหาของกรมพัฒนาที่ดินต้องได้รับความร่วมจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การแก้ปัญหาที่ได้ผลคือโครงการปลูกต้นไม้ทนเค็มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ที่บ้านเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5เป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้วันนี้ในพื้นที่รอบๆ โครงการพบว่าเกษตรกรสามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้มากขึ้นถึง 3 เท่านตัว

           “ดินเค็มเกิดจากมีเกลืออยู่ในชั้นใต้ดิน เมื่อฝนตกน้ำจะซึมลงถึงชั้นที่มีเกลืออยู่ใต้ดิน พอแดดออกน้ำก็จะระเหยขึ้นมา นำเกลือปะปนกับน้ำขึ้นมาด้วย พอถึงชั้นหน้าดิน น้ำระเหยไปในอากาศแต่เกลือไม่ได้เป็นของเหลว ไม่สามารถระเหยขึ้นได้ก็จะตกค้างบนหน้าดิน ทำให้ดินเค็ม เราจึงปลูกต้นไม้ที่ดูดน้ำได้เก่ง อย่างต้นยูคาลิปตัส โสนอัฟริกัน คือพอฝนตกต้นไม้เหล่านี้จะดูดกินน้ำ ทำให้น้ำลงถึงชั้นเกลือ แต่ก็ได้ระดับหนึ่งหากมีปริมาณน้ำฝนเยอะ ถึงขนาดน้ำท่วม ต้นไม้เหล่านี้ก็ไม่ส่มารถจะดูดได้หมด ต้องวิธีอื่นมาแก้ปัญหานี้” นายเข้มแข็ง กล่าว

          อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหานั้น นายเข้มแข็ง บอกว่า หลายด้าน อาทิ กิจกรรมด้านวิศวกรรม ดําเนินการปรับรูปแปลงนา ขุดคูน้ำ ก่อสร้างทางลําเลียง วางท่อลอดระบายเกลือ อีกทางหนึ่งเราแก้ปัญหาด้วยวิธีกิจกรรมด้านพืช ปลูกไม้ทนเค็มกระถินออสเตรเลีย อาคาเซีย ปลูกหญ้าชอบเกลือดิ๊กซีคลุมพื้นที่ป้องกันการระเหยน้ำจากผิวดิน ส่งเสริมการใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบํารุงดิน

[adrotate banner=”3″]

          หากพบว่าบางพื้นที่ที่มีศักยภาพในการแพร่กระจายดินเค็มไปยังที่อื่น ต้องปลูกไม้ยืนต้นเพื่อลดระดับน้ำใต้ดิน ปลูกโสนแอฟริกัน ถั่วพร้าเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

          นี่เป็นอีกแนวทางเอาชนะดินเค็มในภาคอีสาน เพราะหากปล่อยไปจะมหันตภัยร้ายแรงที่จะทำให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นซึ่งอาจทั่วภาคอีสานก็ได้