เกษตรอินทรีย์แทบไม่มีงานวิจัยใดชี้ชัดว่า มีสารอาหารมากกว่าพืชผักที่ได้มาจากการทำเกษตรปลอดภัย ตรงกันข้ามกลับมีงานวิจัยบางชิ้นออกมาชี้ชัด พืชผักอินทรีย์ให้สารอาหารบางตัวน้อยกว่าพืชผักที่ทำแบบเกษตรปลอดภัย
เพราะพืชไม่สามารถสร้างสารอาหารได้เต็มที่ทันต่อระยะเวลาเก็บเกี่ยว เนื่องจากกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นธาตุอาหารช้าเกินกว่าพืชจะดูดซึมธาตุอาหารในดินและปุ๋ยไปใช้ได้ทัน ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา
นี่จึงเป็นเหตุผลของการก่อกำเนิดปุ๋ยเคมีขึ้นมา เพื่อให้พืชนำไปใช้ได้ทันระยะเวลาเก็บเกี่ยว ฉะนั้นปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี หากแต่อยู่ ที่เกษตรกรยังไม่เข้าใจในธรรมชาติของพืช-ดิน-ปุ๋ย ดีพอ…ก่อนปลูก ไม่ศึกษาก่อนว่า พืช ชนิดใดชอบดินปุ๋ยแบบไหนในช่วงเวลาใด แต่ทุกอย่างทำด้วยความเคยชินต่อๆกันมา ใส่ปุ๋ยยาขอให้งามไว้ก่อน ประโยชน์เลยกลายเป็นโทษ และว่ากันตามจริงเรื่องพรรค์นี้
กระทรวงสาธารณสุข น่าจะมีความรู้อยู่มากโข แต่ก็ยังให้โรงพยาบาลในสังกัดใช้พืชผักอินทรีย์เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ที่ดำเนินการไปแล้วในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 116 แห่ง พร้อมเตรียมขยายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศอีก 780 แห่ง
ภายในกันยายนนี้ ดูเหมือนจะดีเพราะสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ แต่ใครก็รู้พืชผักอินทรีย์ราคาแพงกว่าผักทั่วไป ฉะนั้นภาระจึงไปตกอยู่กับโรงพยาบาล ผู้ป่วย ญาติ สุดท้ายเลี่ยงมิได้ที่เงินจากรัฐจะต้องกระเด็นเข้าไปอุด ล่าสุดไม่รู้งบจัดซื้อร่อยหรอหรืออย่างไร ที่ประชุมร่วมกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้โรงพยาบาล ปลูกขาย ใช้ กันเอง
แถมให้เปิดพื้นที่ขายให้เกษตรกร ทุกวันนี้บุคลากรโรงพยาบาลรัฐทุกฝ่าย แทบจะกระดิกตัวไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว ยังต้องมาเจียดเวลาไปปลูกผักอีก…ปลูกยังไง ปลูกตรงไหน ใครล่ะจะเป็นคนปลูก ดูแล หรือต้องจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มอีกหลายอัตรา เคยถามเขาบ้างไหม อย่าดีแต่คิดนโยบายจากห้องแอร์ แต่ไม่เคยแคร์ผู้ปฏิบัติอีกเลย.
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ โดย..สะ–เล–เต : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1336114