“กฤษฎา”การันตีพืชหลังนาต้องมีรายได้ดีกว่าปลูกข้าว

  •  
  •  
  •  
  •  

ตรวจเยี่ยม : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯและผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรฯ

 กระทรวงเกษตรฯจับมือพาณิชย์ เตรียมหารือเอกเอกชนให้ซื้อข้าวโพด-มันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกหลังนาปรังรอบ2 และรอบ 3 ในพื้นที่ราว 2 ล้านไร่ “กฤษฎา” การันตีราคาและรายได้ต้องไม่น้อยกว่าการทำนา ขณะที่คิกออฟงานตามนโยบายรองนายกฯ “สมคิด” เริ่มทันที 1 สิงหาคมนี้ หวังดันปฏิรูปภาคเกษตรสู่รูปธรรม

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การหารือประเด็นสำคัญและติดตามความก้าวหน้างานตามนโยบายในวันนี้ ได้แก่ การปฏิรูปภาคเกษตร โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังในพื้นที่ที่เหมาะสม แทนการปลูกข้าวนาปรัง รอบ 2 – 3 มีพื้นที่ราว 2 ล้านไร่เศษ ทางกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมหารือภาคเอกชน ในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง รวมถึงพืชอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นว่ามีตลาดรองรับแน่นอน ส่วนราคารับซื้อจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิตและมากกว่าราคาข้าวที่เคยขายได้

นอกจากนี้ยังเตรียมมาตรการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ สนับสนุนปัจจัยการผลิต และเงินทุน เป็นต้น ขณะที่สถานการณ์ผลไม้ที่กำลังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นเสมือนล้ง ในการรวบรวมผลไม้จากเกษตรกรนำมาบรรจุหีบห่อ จากนั้นส่งขายให้ผู้บริโภคโดยตรงผ่านไปรษณีย์ไทย ซึ่งถือเป็นการกระจายสินค้าและช่วยแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดด้วย

[adrotate banner=”3″]

สำหรับการดำเนินงานด้านสหกรณ์ ได้เตรียมหารือธนาคารทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อต่อยอดกิจการของสหกรณ์การเกษตรที่มีความเข้มแข็ง 800 แห่งทั่วประเทศ และในส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเข้าไปกำกับดูแลกิจการให้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารงานที่เป็นมืออาชีพ และมีความเข้มแข็งต่อไป

ขณะที่สถานการณ์ด้านราคายางพารายังทรงตัว ภายหลังการดำเนินงานมาตรการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มียอดการสั่งซื้อยางพาราเข้ามาเดือนละ 50,000 ตัน หรือประมาณปีละ 600,000 ตัน ส่วนมาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกยางไปปลูกพืชอื่นตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้เพิ่มเป้าจาก 400,000 ไร่ เป็น 600,000 ไร่ โดยตั้งเป้าราคายางเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 60 บาท/กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนการดำเนินงานและสามารถดำเนินการได้ทันทีในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะเห็นผลความก้าวหน้าภายในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้ามาตรวจเยี่ยมอีกรอบหนึ่งด้วย นายกฤษฎา กล่าว