กมธ.ทรัพย์ฯวุฒิสภา ระดมมันสมองถกแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นpm 2.5 อดีต สว.อัดรัฐหลงประเด็น อัดงบฯกระจุกที่กรมป้องกันฯ

  •  
  •  
  •  
  •  

ชีวะภาพ ชีวะธรรม

กมธ.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ระดมมันสมองจากหลายภาคส่วน ถกหาแนวทางเดินหน้าปัญหาฝุ่น pm 2.5  อดีต สว. “ผศ.บุญส่ง ไข่เกษ” ชี้ชัดรัฐหลงประเด็น มองฝุ่นขนาดจิ๋วเป็นปัญหาสาธารณภัย อัดงบฯกระจุกที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สลับซับซ้อน

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑล โดยที่ประชุมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ , นายวิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , ผศ.บุญส่ง ไข่เกษ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาที่ห้องประชุม CA 429 อาคารรัฐสภา

ผศ.บุญส่ง กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่ขาดงบประมาณในการบูรณาการแก้ปัญหา โดยเฉพาะงบประมาณแก้ฝุ่น PM 2.5 ในปี พ.ศ.2567 กระจุกตัวสูงมาก มีหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 15,639.64 ล้านบาทจากงบประมาณแก้ฝุ่นทั้งหมด 17,529.98 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนแนวคิดของรัฐที่ยังเชื่อว่าปัญหา PM 2.5 เป็นปัญหาสาธารณภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สลับซับซ้อน

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ช่วงนี้อากาศปิด ในทางวิชาการแก้ไม่ได้ แต่แจ้งให้ประชาชนเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5 ตนจึงเสนอให้หน่วยงานมีแผนทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องลงมือดำเนินการโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหรือให้ผู้ว่าฯซีอีโอสั่งการ แต่ต้องกำหนดภารกิจให้ผู้ว่าราชการจัดการ PM 2.5 อีกทั้ง อบจ.ต้องเข้ามาช่วยหน่วยงานท้องถิ่นแก้ฝุ่น

ด้านนายวิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอว่า การแก้ PM 2.5 ในระยะยาวต้องมีความชัดเจน การเผาอ้อยต้องมีมาตรการเด็ดขาด และวางแผนให้ครบวงจรตั้งแต่ระบบการปลูก เครื่องจักรกลทางการเกษตร และโรงงานต้องจัดการให้ครบวงจรอย่างเป็นระบบ หลายคนเชื่อว่า หากพ.ร.บ.อากาศสะอาด มีผลบังคับใช้ก็น่าจะดีขึ้น

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อสังเกตว่า ต่อไปในอนาคตต้องมีเทคโนโลยีสุ่มตรวจจับโรงงานปล่อย PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยอาจใช้โดรนบินตรวจจับโดยที่เจ้าของโรงงานไม่รู้ตัว ส่วนการพิจารณาศึกษา PM 2.5 จะต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือที่อาจปะทุในช่วงมีนาคมนี้ ก่อนจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลต่อไป