ลูกผักยกร้าน…สู้โลกร้อน ปีเดียวคืนทุน กำไรแสนสอง

  •  
  •  
  •  
  •  

“แต่ก่อนเทคโนโลยียังไม่ถึงชุมชน ผักอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ เราได้ยินได้ฟังแต่ไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร ปี 2535 ทางการเริ่มเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้บ้านปลูกผักอินทรีย์อย่างจริงจัง ปีนั้นร่างกายเริ่มไม่ไหว เพราะฉีดพ่นยาในนาข้าวมาก จึงเริ่มสนใจคิดทำบ้างเพื่อสุขภาพของตัวเอง” ปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านหนองมัง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี เล่าถึงที่มาของการปรับเปลี่ยนการทำนาหันมาปลูกผักอินทรีย์..เริ่มด้วยการปรับพื้นที่ 2 งาน ทำสระน้ำ ปรับนาให้เป็นที่ดอนสำหรับปลูกผัก…ช่วง 2 ปีแรกเป็นระยะปรับเปลี่ยนให้สารตกค้างในดินหมดไป

ปี 2538 เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ ปลูกขายส่งให้โรงพยาบาล ที่ต้องผ่านการตรวจรับรองจากเกษตรกร โรงพยาบาล และเกษตรจังหวัดปีละ 4 ครั้ง และส่งเลมอนฟาร์ม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เลมอนฟาร์ม เกษตรจังหวัด จะตรวจคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย แม้ต้องตรวจรับรองถี่…แต่คุ้มค่าเพราะได้ราคาสูงกว่าตลาด 2 เท่าตัว

“แต่ปลูกผักลงดินในที่เดิมๆติดต่อกันหลายปี นอกจากมีปัญหาโรคพืช สภาพอากาศยังร้อนขึ้นทุกวัน ดูแลดีแค่ไหนยังเจอปัญหาผักเหี่ยว ต้องให้น้ำบ่อยขึ้น สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จึงชวนให้ปลูกผักในโรงเรือนพลาสติก หลังคา 2 ชั้นช่วยให้ลมระบายได้ดี น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้ 3-5 องศา”

หลังจากศึกษากระทั่งแน่ใจ จึงเริ่มปลูกโรงเรือน ต้นทุนหลังละ 80,000 บาท ในโรงเรือนทำนั่งร้านคล้ายๆโต๊ะ ยกพื้นสูงพอดีเอว สะดวกต่อการดูแลและเก็บผักง่าย ใช้กระเบื้องแผ่นลอนคู่มาวางเป็นพื้นนั่งร้าน เพื่อช่วยระบายน้ำและถ่ายเทอากาศด้านใต้ ดินปลูกผักจะไม่ร้อน รากพืชไม่เน่าง่าย จากนั้นใช้มุ้งตาข่ายไนลอนมาทำกระกระบะวางทับไปบนกระเบื้องลอนคู่


ใส่ดินหนา 20 นิ้ว ตามด้วยปุ๋ยหมักมูลสัตว์ ฉีดพ่นด้วยน้ำหมัก วิธีนี้จะทำให้ได้จุลินทรีย์มาช่วยย่อยอินทรียวัตถุให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืชการตรวจสอบว่าดินพร้อมปลูกผักหรือยัง ปิยะทัศน์ แนะเคล็ดลับ…ให้กำดินแล้วดูร่องมือว่ามีน้ำซึมออกมามั้ย ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนไม่ร่วนซุยต้องเพิ่มปุ๋ยหมักลงไปอีก บีบแล้วมีน้ำซึมออกมาถึงจะใช้ได้

ช่วงผักกำลังเจริญเติบโตใส่ปุ๋ยหมักสูตรที่มีไนโตรเจนสูง และ 7 วัน ก่อนเก็บผักขาย ฉีดพ่นใส่น้ำหมักทำจากผลไม้สุก อาทิ ฟักทอง สับปะรด กล้วย และแตงโม จะช่วยให้ผักกรอบ ไม่มีรสขม


หลังเก็บผักหมด พรวนดิน ใส่ปุ๋ยและน้ำหมัก ทดสอบโครงสร้างดินวิธีเดิม แล้วปลูกผักรุ่น 2 ได้เลย ไม่ต้องพักหน้าดิน ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องพักหน้าดิน 15 วันโรงเรือน 1 หลัง หักต้นทุนได้กำไรปีละ 120,000 บาท ดีกว่าทำนาปลูกข้าวปีละหน ได้เงินไม่แน่นอน.

ที่มา : ไทยรัฐ : โดย  เพ็ญพิชญา เตียว : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1320527