จากคนที่เคยใช้ชีวิตแบบโลกหมุนรอบตัวเอง ทำงาน หาเงิน ใช้เงิน ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง จนมีโอกาสทำงานอาสาสมัคร ความรู้สึกสุขใจที่เป็นผู้ให้ ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
ณ จุดนั้น ธนบูรณ์ สมบูรณ์ อดีตช่างภาพแฟชั่น คนช่างคิด จึงผันตัวมาก่อตั้งครีเอทีฟ มูฟ (Creative MOVE) ออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยทำในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม เน้นประเด็นเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนจะทำครีเอทีฟ มูฟ เขาก่อตั้งเครือข่ายออนไลน์ PORTFOLIOS*NET ซึ่งเป็นเครือข่ายนักสร้างสรรค์และนักออกแบบ มีสมาชิกกว่าสองหมื่นเจ็ดพันคน
และนั่นก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงนักออกแบบ คนทำงานศิลปะ มาสร้างสรรค์ออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคม “ที่ผ่านมาทำงานหาเงินเพื่อตัวเอง พอมีโอกาสเข้ามาเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม ทำให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น จนก่อตั้งองค์กรอาสาสมัคร และบริษัทที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ” ธนบูรณ์ เล่า
7 ปีที่แล้ว เขาร่วมกับรุ่นน้องเปิดเพจกลุ่มอาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย(SiamArsa) รวมคนอาสาสมัครที่อยากเป็นผู้ให้ และคนที่อยากรับความช่วยเหลือไว้ที่เดียวกัน
“ตอนน้ำท่วมใหญ่ ตอนนั้นหยุดงานธุรกิจ ทำงานเพื่อสังคมอยู่สามเดือน ถ้าเราจะช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืน การเป็นอาสาสมัครยังไม่พอ ”สำหรับคนที่ทำงานอาสาสมัครอย่างเดียว หากไม่ได้ร่ำรวย คงอยู่ยาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ธนบูรณ์ก่อตั้ง ครีเอทีฟ มูฟ ทำงานด้านออกแบบนวัตกรรมสังคม ให้องค์กรหรือมูลนิธิที่ต้องการทำแคมเปญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงงานออกแบบการสื่อสารด้านสังคม (ทั้งกราฟฟิค งานวิดีโอ และออนไลน์) และงานที่ทำให้องค์กร หน่วยงาน และมูลนิธิ ที่ไม่มีงบประมาณ แต่ต้องการทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่พิจารณาตามความเหมาะสม
ดังนั้น ครีเอทีฟ มูฟ จึงไม่ใช่งานที่ตอบโจทย์แค่ลูกค้าที่สนใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ธนบูรณ์ บอกว่า เขายังสร้างสรรค์โครงการของตัวเอง โดยหางบสนับสนุน อย่าง Greenery.org ที่เปิดมาปีกว่าๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่อยากทำ และอีกไม่นานคงจะมีเว็บหรือเพจที่ทำกิจกรรมเรื่องสังคมสูงวัย
ในเรื่องวิถีกรีนๆ เขาเล่าว่า อยากให้ความรู้คนเมืองในเรื่องเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย การกิน อยู่ ดูแลสุขภาพ โดยสื่อสารด้วยรูปแบบใหม่ เข้าใจง่ายๆ นำเสนอชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติกและลดการสร้างขยะ เชื่อมโยงไปถึงเกษตรอินทรีย์ เปิดตลาด Greenery หมุนเวียนไปตามที่ต่างๆ ทุกเดือน
“เพราะผมอยากกินอาหารปลอดภัย เวลาเราเข้าไปอ่านข้อมูลจากเว็บต่างๆ ภาษาการสื่อสารอ่านยาก ทำให้คนอ่านไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเว็บของหน่วยงานราชการและโรงพยาบาล แม้ข้อมูลจะถูกต้อง แต่ไม่น่าติดตาม”
นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าคนเมืองอยากซื้ออาหารอินทรีย์ราคาไม่แพงจะซื้อได้ที่ไหน แม้จะหาซื้อได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่อาหารกรีนๆ ราคาแพงมาก หรือถ้าไปฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ก็ยังไม่ตอบโจทย์
“ทำไมมีเบอร์เกอร์และพิซซ่าชิ้นละสองสามร้อยขายในฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต นั่นไม่ใช่สินค้าเกษตรกร Greenery จึงทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องกรีนๆ ทั้งการสร้างพื้นที่เกษตรกรตัวจริงให้มาเจอกับคนเมืองในราคาไม่แพงมาก อย่างการเปิดตลาดที่สยามดิสคัฟเวอรี่ที่ผ่านมา คนก็เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์ต้องแพง ในตลาดที่เราเปิดมีผักกำละ 20 บาท ที่ขายแบบนี้ได้ เพราะไม่มีพ่อค้าคนกลาง”
กิจกรรมกรีนๆ ที่เขาคิดและพยายามสร้างแคมเปญรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เขาจะทำให้เป็นเรื่องสนุก อย่าง Greenery Challenge จะมีคอนเซ็ปต์แต่ละเวอร์ชั่นไม่เหมือนกัน เพื่อให้คนหันมาใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ กินดี กรีนดี กินดีไม่ใช่กินแพง
“ฉลาดกิน ฉลาดเลือก กินอาหารไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่มัน รู้จักออกกำลังกาย กรีนดีคือใช้ชีวิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเชิญชวนให้คนหันมาใช้ถุงผ้า เอาแก้วไปซื้อกาแฟเอง ผมก็เปลี่ยนตัวเองด้วย ผมก็พกแก้วหนึ่งใบ ขวดน้ำหนึ่งขวดไปทุกที่”
ทุกๆ วัน ที่ซื้อกาแฟหนึ่งแก้ว จะมีทั้งฝาครอบแก้ว หลอดดูด เขาเลือกที่จะเอาแก้วไปใส่เอง เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ถ้าปฎิเสธแก้ว หลอด ฝาครอบพลาสติกเป็นเวลา 150 วัน จะสามารถลดขยะพลาสติกได้ 450 ชิ้น
“ในกลุ่มที่เข้าร่วมเครือข่าย Greenery Challenge มีประมาณสี่พันกว่าคน ในกลุ่มนี้แค่ปีหนึ่งลดขยะได้ล้านกว่าชิ้น เพราะชวนกันทำ ชวนกันแชร์ บางวันก็แชร์กันสนุกๆ ว่า วันนี้ลืมแก้วไปใส่กาแฟ, ห้ามพนักงานใส่หลอด แต่ไม่ทัน นี่คือความน่ารักที่แชร์กัน
เมื่อมาทำส่วนของกรีนๆ ผมเองก็พยายามหาโมเดลธุรกิจที่ทำให้ Greenery อยู่ได้ด้วยตัวเอง อาจเป็นการขายสินค้า บริการ และเวิร์คชอป รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม รายได้ส่วนหนึ่งก็มอบให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม”
หากถามว่า ถ้าต้องการรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดในสังคม ต้องทำอย่างไร นักสร้างสรรค์เช่นเขาบอกว่า ถ้ายังไม่มีคนเปลี่ยนให้เห็น หรืองค์กรไม่ได้รณรงค์จริงจัง ทำเป็นตัวอย่างที่ดี คนก็ไม่เปลี่ยน“ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคม คนที่ทำแคมเปญหรือโครงการต้องเปลี่ยนตัวเองให้เห็นด้วย ไม่ใช่ตะโกนให้คนทำ แต่ตัวเองไม่ทำ”และหลังจากที่ครีเอทีฟ มูฟ ทำงานธุรกิจเพื่อสังคม มานานกว่าหกปี สามารถตอบโจทย์ให้ชีวิตเขาได้มากน้อยเพียงใด
ธนบูรณ์ บอกว่า ตื่นขึ้นมาเขาอยากไปทำงานทุกวัน มีความสุขที่ได้ทำ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำ มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น “อย่างผมออกแบบอินโฟกราฟฟิคให้สภากาชาด แล้วมีคนมาบริจาคเลือดมากขึ้น หรือออกแบบโลโก้ให้สินค้าชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ ทำให้เขาขายสินค้าได้ดีขึ้น เมื่อมีผลดี ผมก็มีความสุข ทำให้ผมมีพลังในการทำ”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม :