ออร์แกนิกสัญชาติไทย หนึ่งเดียวในนิวเซาท์เวลส์

  •  
  •  
  •  
  •  

“ชอบปลูกผักไว้กินเองตั้งแต่เด็ก เลยศึกษาหาความรู้มาตลอดโดยเฉพาะตำราต่างประเทศ เมื่อย้ายมาออสเตรเลีย ปลูกผักอยู่บนที่ดินไม่ถึงไร่ เลี้ยงไก่ไข่20-30 ตัว ที่ว่างปลูกไม้ผลยืนต้น ส่วนหนึ่งกินเอง ที่เหลือส่งขายให้ร้านอาหารไทย จนผลผลิตเริ่มไม่พอขาย3 ปีที่แล้ว จึงไปซื้อที่ดินราคาไม่แพงในเมืองไบรอนเบย์ ห่างจากซิดนีย์ 700 กม. อากาศคล้ายภาคเหนือไทย น่าจะปลูกได้ทั้งผักสวนครัวไทยและผักเมืองหนาว จึงทำมาถึงทุกวันนี้”
พลิสา แอนเดอร์สัน เจ้าของ Boon luck Farm ฟาร์มออร์แกนิกของคนไทย หนึ่งเดียวในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เล่าถึงที่มา ก่อนได้รับมาตรฐานออร์แกนิกออสเตรเลีย เมื่อปีที่แล้วทำฟาร์มในแบบหลักเพอร์มาคัลเจอร์ วิถีทางการเกษตรที่เน้นเรื่องความยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในหลักการเกษตรออร์แกนิกออสเตรเลีย…ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ พึ่งพากันและกัน อะไรที่เคยมีอยู่จะไม่ไปปรับเปลี่ยนมาก ต้นไม้ใหญ่จะปล่อยไว้เป็นที่อาศัยของนก เพื่อคงสมดุลระบบนิเวศ เพราะนกบางชนิดช่วยกำจัดแมลง บางชนิดกำจัดงู หรือศัตรูพืชอื่นๆ
ปลูกพืชแบบพึ่งพิงกันและกัน เช่น ปลูกถั่วใกล้กับต้นไผ่หรือไม้ชนิดอื่น เพื่อใช้เป็นหลักให้ถั่วเลื้อย แล้วปลูกฟักทองหรือใช้ฟางข้าวคลุมดินป้องกันวัชพืชและรักษาความชุ่มชื้น…ถึงระยะเก็บเกี่ยว ตอฟักทอง ฟางข้าวใช้เป็นปุ๋ยให้ครอปต่อไป ส่วนสัตว์เลี้ยงแบบปล่อยอิสระไม่ให้เครียด เมื่อครบครอปจะย้ายที่เลี้ยง ปลูกต้นพืชแทน
“เราปลูกผักสวนครัวแทบทุกชนิดที่ใช้ในอาหารไทยผักทั่วไปปลูกกลางแจ้งได้ แต่พืชหลักตลาดต้องการสูง อย่าง กะเพรา มะเขือพวง ใบชะพลู พืชกินใบและไม้ผลราคาสูง เช่น ฝรั่ง จะปลูกในโรงเรือนขนาด 8 ไร่ สูงกว่า 10 เมตร เพื่อป้องกันศัตรูธรรมชาติ อาทิ หนู พอสซั่ม ไก่งวง หอยทาก รวมทั้งแมลงบางชนิดแต่เมื่อเข้าฤดูหนาว แม้ที่จะไม่หนาวขนาดหิมะตก ผักครัวไทยให้ผลผลิตน้อย จำเป็นต้องย้ายไปปลูกในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิให้อบอุ่น และปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผักเมืองหนาวแทน เพื่อจะได้มีรายได้เข้าฟาร์มตลอดปี”
ดินปลูกพืช ยึดหลักการ “ดินดีย่อมต้องมีมดแมลง” ต้นไม้ถึงสมบูรณ์ เพราะต้นไม้มีโรคสิ่งมีชีวิตมักไม่ค่อยอาศัยบริเวณใกล้เคียง ฉะนั้นจะปล่อยให้มีมด แมลงอยู่ในแปลง แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องป้องกันแมลงบางชนิด โดยใช้สาหร่ายผสมอีเอ็มสูตรเฉพาะฉีดพ่น ในอนาคตเตรียมทดลองนำน้ำส้มควันไม้แบบไทยๆเข้ามาใช้
ที่สำคัญจะไม่ขุดไถพรวนดิน เพราะจะทำให้สัตว์เหล่านี้รวมถึงไส้เดือน จุลินทรีย์ในดินตาย แต่จะปลูกพืชโดยขุดหลุมเล็กๆเฉพาะตรงที่ปลูก รองก้นด้วยขี้เลื่อยหรือคอมโพส (ปุ๋ยหมักชนิดผงจากมูลสัตว์ ซากพืชซากสัตว์ นิยมใช้ในต่างประเทศ)
สำหรับการตลาด ถ้าขายในละแวกเมืองไบรอนเบย์ จะใช้วิธีให้ลูกค้าไลน์หรือโทรศัพท์สั่งสินค้า ทางฟาร์มมีบริการส่ง ทำรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,500 เหรียญออสเตรเลียหรือ 37,500 บาท…ส่วนตลาดซิดนีย์ จะมีรถมารับสินค้าถึงฟาร์มสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 4,000 เหรียญ แค่ 1 แสนบาทเท่านั้นเอง.

 

ที่มา  : ไทยรัฐ…โดย..กรวัฒน์ วีนิล : อ่านเพิ่มเติม :https://www.thairath.co.th/content/1301672