ชาวสวนทยอยโค่นยาง-กาแฟ แห่ปลูกทุเรียน รับดีมานด์ทะลัก !!

  •  
  •  
  •  
  •  

 ชาวสวนทยอยโค่นยาง-กาแฟ แห่ปลูกทุเรียน รับดีมานด์ทะลัก !!

“ประชาชาติธุรกิจ” รายถึงสถานการณืภาคการเกษตร ปัจจุบันพบว่า ทุเรียนแรงจัด ราคาดี-อนาคตสดใส ชาวสวน-เกษตรกร ทั่วสารทิศ ตะวันออก-เหนือ-ใต้-อีสาน ทยอยโค่น “ยางพารา-ส้ม-เงาะ-กาแฟ” ปลูกทุเรียนแทน ต้นกล้าราคาพุ่ง 300-500 บาท/ต้น รับดีมานด์ทะลัก “หมอนทอง” พันธุ์ยอดนิยม กระทรวงเกษตรฯสำรวจพบ ปี”60 ทั่วประเทศแห่ปลูกเพิ่มกว่า 5 หมื่นไร่

ปีนี้ความต้องการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลายเท่าตัว ส่งผลให้ราคาทุเรียนในประเทศไทยพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชต่าง ๆ ถึงกับโค่นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกอยู่ ทั้งยางพารา เงาะ ส้ม รวมถึง กาแฟ และหันมาปลูกทุเรียนแทน

ตะวันออกเพิ่มพื้นที่ปลูก

นายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ถือเป็นปีทองของทุเรียนอีกปีหนึ่ง เพราะตลาดมีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะตลาดจีน ทำให้ราคายืนอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-170 บาท หรือหากพันธุ์หายาก เช่น พวงมณี นกหยิบ จะราคา 200-300 บาท เกษตรกรในภาคตะวันออกจึงมีการโค่นยางพาราที่มีราคาตกต่ำและหันมาปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ไร่/ปี ส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทองตามความต้องการของตลาด คาดว่าผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้นปีละ 30,000 ตัน

“นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังมีโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยให้ปลูกพืชอื่นเสริม โดย จ.จันทบุรี มีโครงการส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาคุณภาพให้ผลิตทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม เพื่อขยายตลาดในจีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมา เพิ่ม”

นายทรงธรรม ชำนาญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง กล่าวเสริมว่า ราคาทุเรียนที่สูงจึงจูงใจให้เกษตรกรนิยมปลูกมากขึ้น ขณะที่ กยท.ก็มีโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยอุดหนุนฟรีไร่ละ 10,000 บาท ใน จ.ระยองมีประมาณ 10,000 ไร่ นอกจากหมอนทองแล้วพันธุ์อื่นๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่น หลงลับแล หลินลับแล นกกระจิบ พวงมณี ก้านยาว ชะนี เป็นต้น

นายโอภาส ชอบรส หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจังหวัดตราดมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นปีละ 30,000-40,000 ต้น ทั้งในรูปแปลงใหญ่ และรายย่อย ซึ่งมีพื้นที่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ที่ได้ทุนอุดหนุนจาก กยท.อีก 4,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะต้องวางแผนการตลาดรองรับ รวมถึงให้เกษตรกรผลิตทุเรียนคุณภาพมีมาตรฐาน GAP รองรับ และรวมกันปลูกเป็นแปลงใหญ่ทำการตลาดด้วยระบบสหกรณ์ สร้างแบรนด์ของสหกรณ์ให้มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากปัจจุบันทุเรียนไทยมีคู่แข่งมากขึ้น

นายกรีฑา งาเจือ เจ้าของสวนทุเรียนหลงบูรพา ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมืองตราด จ.ตราด กล่าวว่า ราคาทุเรียนเฉลี่ยปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ราคาสูงสุดกิโลกรัมละ 130 บาท ปี 2561 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 บาท และราคาสูงสุดอยู่ที่ 150 บาท จากราคาทุเรียนที่พุ่งสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ และปีนี้ได้ราคาดีมาก ทำให้เกษตรกรโค่นยางพารา เงาะ หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมาก

ภาคเหนือโค่นสวนส้มปลูกทุเรียน

นายธุวานนท์ สืบสันติธรรม ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็มแอล เจ้าของสวนทุเรียน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางการตลาดสูง ราคาดี และจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต ขณะนี้พบว่าเจ้าของสวนส้มหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่ อ.ฝาง อ.แม่อาย และ อ.ไชยปราการ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มแหล่งใหญ่ของภาคเหนือ ได้เริ่มทยอยทิ้งสวนส้มและหันมาปลูกทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก สำหรับผลผลิตที่ได้ นอกจากจะขายในพื้นที่แล้ว หลายรายก็กำลังมองลู่ทางส่งออกไปตลาดจีนด้วย

“ปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากการทำสวนส้มที่มีอยู่กว่า 100 ไร่ มาปลูกทุเรียนแทน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสวนส้มประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งภาวะโรค แมลง ต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่มีกำไร โดยพื้นที่ 100 ไร่ แบ่งเป็น 60 ไร่ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 1,000 ต้น และอีก 40 ไร่ ปลูกลำไย และทุเรียนที่ออกมาค่อนข้างมีคุณภาพและรสชาติเหมือนกับทางภาคตะวันออก”

ภาคใต้โค่นยางพารา-กาแฟ

แหล่งข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ให้ข้อมูลว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีการปลูกทุเรียนมากในหลายจังหวัด อาทิ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ส่วน จ.พัทลุง มีการปลูกทุเรียนที่ อ.ศรีนครินทร์ ตะโหมด กงหรา มีการโค่นต้นยางพาราประมาณ 4,000 ไร่ เพื่อมาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ทางเลือก เช่น สาลิกา หลงลับแล แต่ไม่มากนัก

สำหรับระนอง ที่ผ่านมาเกษตรกรที่เคยปลูกกาแฟได้เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับสงขลา พื้นที่ปลูก อ.รัตภูมิ สะเดา สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี โดยเกษตรกรปลูกทุเรียน จะปลูกเสริมผสมผสานกันระหว่างทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักส่งเสริมและพัฒนาเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา(สสก.ที่ 5) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการจัดทำข้อมูลบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ พบว่าตั้งแต่ปี 2559 มีการโค่นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยทุเรียนให้ผลผลิต ประมาณ 220,000 ตัน/ปี พื้นที่ปลูกประมาณ 400,000 ไร่ และมีแนวโน้มปลูกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะที่พื้นที่ปลูกมังคุดจำนวน 250,000 ไร่ พื้นที่ปลูกเงาะ 120,000 ไร่ และพื้นที่ปลูกลองกอง 230,000 ไร่ มีแนวโน้มทยอยลดลง

สำหรับภาคใต้ในปี 2561 มีพื้นที่ปลูกผลไม้รวมกว่า 857,000 ไร่ มีผลผลิตรวมประมาณกว่า 590,000 ตัน โดยมากกว่าปีที่แล้วประมาณกว่า 310,000 ตัน โดยเป็นทุเรียนกว่า 315,000 ไร่ มีผลผลิตประมาณกว่า 283,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้วถึงประมาณกว่า 110,000 ตัน นอกนั้นเป็นมังคุด เงาะ ลองกอง

“ศรีสะเกษ” แห่ปลูกเพิ่ม 200%

นายหมุน แซ่จึง ประธานเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมกว่า 18,000 ไร่ จากเดิมมีประมาณ 4,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 200% แบ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตได้แล้วประมาณ 3,000 ไร่ ทุเรียนอายุประมาณ 4-5 ปี ประมาณ 5,000 ไร่ และทุเรียนที่เริ่มปลูก 1-2 ปี ราว 10,000 ไร่ ส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากราคาหน้าสวนอยู่ที่ 100 บาท/กิโลกรัม

“ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และจากความต้องการที่มากขึ้นทำให้ราคาต้นกล้าพันธุ์ทุเรียนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิม 150-200 บาท/ต้น ปัจจุบันขยับมาเป็น 300-500 บาท/ต้น” นายหมุนกล่าว

ปี”60 ปลูกเพิ่มกว่า 5 หมื่นไร่ รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า รายงานพื้นที่ปลูกทุเรียนที่สำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2561 พบว่า พื้นที่ปลูกปีการผลิต 2560 ทั้งประเทศมี 787,822 ไร่ เพิ่มขึ้น 52,203 ไร่ จาก

ปี 2559 ที่มี 735,619 ไร่ ขณะที่จำนวนผลผลิตปี 2560 มีปริมาณ 635,031 ตัน เพิ่มขึ้น 122,580 ตัน จากผลผลิตปี 2559 มีปริมาณ 512,451 ตัน โดยทุกภูมิภาคมีการปรับเพิ่มพื้นที่ปลูก ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มจาก 3,022 ไร่ เป็น 3,988 ไร่ ภาคกลาง เพิ่มจาก 315,295 ไร่ เป็น 328,281 ไร่ และภาคใต้ เพิ่มจาก 368,255 ไร่ เป็น 406,506 ไร่ ขณะที่ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกคงเดิมเท่ากับปี 2559 จำนวน 49,047 ไร่ จังหวัดที่มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพิ่ม เช่น ชุมพร มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 15,972 ไร่ เป็น 164,099 ไร่ จันทบุรี มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 4,313 ไร่ เป็น 207,483 ไร่ ตราด มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 4,113 ไร่ เป็น 34,911 ไร่ ระยอง มีพื้นที่เพิ่ม 2,426 ไร่ เป็น 69,187 ไร่ และศรีสะเกษ มีพื้นที่เพิ่ม 944 ไร่ เป็น 3,536 ไร่

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : https://www.prachachat.net/economy/news-167119