เดินหน้าปลูกกัญชารักษาโรค

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ประชุมนัดแรก เตรียมใช้พื้นที่ อภ.ปลูกและทดลองสายพันธุ์ ตั้งเป้าผลิตกัญชา 500 กก.ต่อปี นำไปวิจัยในคน 500 คน ชี้ช่วงแรกกฎหมายยังไม่อนุญาตปลูกจะขอใช้กัญชาของกลางที่จับกุมได้ก่อน เผยปัจจุบันมีการนำสารสกัดกัญชารักษาพาร์กินสัน ลดการเจ็บปวดจากมะเร็งระยะสุดท้าย 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีนพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธาน ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นัดแรก โดยหารือร่วมกันนานกว่า 3 ชั่วโมง

นพ.โสภณ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้ให้นโยบายว่าประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยน อะไรที่เป็นประโยชน์ต้องถูกนำมาใช้ ซึ่งกัญชามีทั้งประโยชน์ และโทษ ดังนั้นต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาศึกษาวิจัยตั้งแต่การปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ ภายใต้ระบบการควบคุมที่ดี ซึ่งการประชุมวันนี้ได้มีการตั้งคณะทำงาน 4 ชุด คือ 1.ให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดูแลเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ 2.การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะมีกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก รวมทั้ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันดำเนินงาน 3.เรื่องการควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลไปใช้ในทางที่ผิดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางจะมี อย.ร่วมกับ ป.ป.ส. ดูแล และ 4. เรื่องผลิตภัณฑ์จากกัญชาจะมี อย.เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หลายโรค อาทิ พาร์กินสัน ลดการเจ็บปวดจากโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องดูต่อว่าจะมีส่วนในการช่วยดูเลโรคมะเร็งอื่นๆ โรคอัลไซเมอร์ และออทิสติก หรือไม่

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ซึ่งอนุญาตให้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้ และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่คาดว่าจะนำเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของสนช. สำหรับการเตรียมความพร้อมของ อภ. ตอนนี้มีการหารือกันเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาใช้กัญชาทางการแพทย์ เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ของ อภ.ย่านพระราม 6 ซึ่งเป็นตึกขนาด 1,110 ตารางเมตร ใช้ชั้นบนในการเพาะปลูก และพัฒนาสายพันธุ์ ส่วนชั้นล่างจะทำเป็นสถานที่สกัดสารสำคัญ การวิจัยและการผลิต ซึ่งตรงนี้ยังต้องมีการปรับปรุงและวางระบบควบคุมเพื่อป้องกันการเล็ดลอดออกสู่ข้างนอกอย่างเข้มงวด ตั้งเป้าว่าพื้นที่ดังกล่าวจะผลิตกัญชาได้ 500 กก.ต่อปี และนำไปวิจัยในคนได้ 500 คน อย่างไรก็ตามช่วงแรกที่กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ปลูกคิดว่าจะขออนุญาตใช้กัญชาของกลางที่จับกุมได้มาใช้ก่อน และอาจจะขออนุญาตสำรวจกัญชาตามธรรมชาติ และการนำเข้าจากต่างประเทศ

ด้าน ผศ.วิเชียร กีรตินิจกาล นักปรับปรุงพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การปลูกกัญชานั้นช่วงแรกจะมีการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ 20 สายพันธุ์ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะนำเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ โดยนำเข้าเพื่อวิจัยปริมาณสารสำคัญต่าง และพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมเมืองไทย ต้องยอมรับว่าสายพันธุ์ต่างประเทศพอนำเข้ามาแล้วต้องมาทำระบบสิ่งแวดล้อมรองรับอีก อนาคตอาจจะเป็นลูกผสมกับสายพันธุ์ไทยก็ได้ หากทำได้ก็จะลดต้นทุนลงไปได้มาก สำหรับกัญชาธรรมชาติในประเทศไทยที่ส่วนมากจะพบได้มากแถบอีสาน เช่น สกลนคร ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะเพิ่งเริ่มเดินหน้าเรื่องนี้แต่คิดว่ายังไม่สายเกินไปที่จะทำ แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้อนาคตก็ต้องซื้อเขา ดังนั้นไม่อยากให้กลัวกัญชา

ที่มา  : New 18