พาณิชย์ ชง 5 มาตรการ แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

  •  
  •  
  •  
  •  

พาณิชย์ ชง ที่ประชุมกนป.เคาะ 5 มาตรการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ 11 พ.ค. นี้ หวังดันให้ราคาผลปาล์มสูงขึ้นกว่า 3 บาทต่อก.ก.

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการ เพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ว่า ในที่ประชุมเห็นชอบ 5 มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ได้รับผลกระทบจากราคาปาล์มตกต่ำลงเหลือกก.ละไม่ถึง 3 บาทโดยจะเสนอเข้าสู่ที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 นี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

สำหรับ มาตรการที่จะเข้าช่วยเหลือ ได้แก่ 1)การกำหนดมาตรฐานโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้โรงงานสกัดแยก (A) และโรงสกัดรวม (B) ต้องสกัดน้ำมันจากปาล์มทะลายได้ไม่ต่ำกว่า 18% หรือ 30%

2) ปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศผลักดันการส่งออก 3 แสนตัน ภายใน 4 เดือน 3) การพัฒนาคุณภาพปาล์ม ตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมัน 4) การดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่มีสต็อกสูงเพื่อผลิตเป็นบี20 ให้ได้ปีละ 2.5 แสนตัน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการโดยคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะ 2-3 เดือนต่อจากนี้

และ 5) มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเพิ่มความเข้มงวดของสินค้าผ่านแดน และป้องกันการนำเข้าน้ำมันปาล์มตามชายแดนไม่ให้เกิน 40,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ จาก 5 มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถดึงราคาปาล์มให้มีราคาสูงขึ้น หรือมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาทได้ อย่างไรก็ดี ยังได้สั่งการให้ตั้งคณะอนุกรรมการทำงานขึ้นมาศึกษาแผนรักษาเสถียรภาพปาล์มในระยะยาว เพื่อสร้างสมดุลระหว่างปริมาณและความต้องในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก การต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และ การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีน้ำมันปาล์มเเละโอลิโอเคมี เป็นต้น

สำหรับ สถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์จะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด 15.39 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบเปอร์เซนน้ำมันปาล์ม 18% ปริมาณ 2.71 ล้านตันCPO ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 2.34 ล้านตันCPO ซึ่งเป็นความต้องการใช้สำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการผลิตไบโอดีเซลปริมาณ 2.34 ล้านตันCPO จึงทำให้ปัจจุบันมีปริมาณสต๊อกส่วนเกิน อยู่ที่ 6 แสนตัน CPO

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ