สสว. ผนึกสถาบันอาหาร หนุนเครือข่าย SME กลุ่มมะพร้าวและกล้วย
สสว. ผนึกสถาบันอาหาร ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 หนุนรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรมะพร้าวต่อเนื่องจากปี 2560 หลังสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ภายใต้วงเงินงบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมะพร้าวและเครือข่ายกล้วย เน้นกระตุ้นและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์
สำหรับกลุ่มเครือข่ายมะพร้าว เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 3,300 ราย สร้างการรวมกลุ่มได้ 26 เครือข่าย พัฒนาผู้ประสานงานเครือข่าย 80 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งในปี 2561 นี้จะเป็นการต่อยอดขยายผล โดยการคัดเลือกเครือข่ายกลุ่มมะพร้าวเดิมบางส่วนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายรายใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแผนต่อไป
ส่วนกลุ่มเครือข่ายกล้วย เป็นการดำเนินการปีแรก โดยกล้วยที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า มีผลผลิตรวมกันมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกล้วยสดของตลาดต่างประเทศ โดยพบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าส่งออกกล้วยสดราว 467 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 41 เป็นการส่งออกไปจีนสูงสุดที่มูลค่า 340 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 65 ล้านบาท และฮ่องกง 44 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในลักษณะของสินค้าโอทอปประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก
“สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยรวม 17 เครือข่าย มีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 2,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 10 เครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายต่อเนื่อง ต่อยอดขยายผลตามแผนพัฒนาจากปี 2560 จำนวน 8 เครือข่าย และในปี 2561 นี้เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่อีก 2 เครือข่าย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมกล้วย เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในปี 2561 นี้ จำนวน 7 เครือข่าย เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายหรือผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) จำนวนไม่น้อยกว่า 51 ราย เกิดการขยายการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจรวมกันได้ 70 ล้านบาท และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” นายสุวรรณชัย กล่าว
ด้าน นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย ปี 2561 โดยสถาบันอาหารจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคลัสเตอร์ การตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ หรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น
ที่มา : bangkokbanksme