“บ๊วย”โครงการหลวงพันธุ์ไต้หวัน ผลโต ดก ชุบชีวิต 18 ชาวสล่าหู่

  •  
  •  
  •  
  •  

 

       หลายพื้นในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน แต่สำหรับบนดอยของโครงการหลวง นี่เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า ฤดูกาลของบ๊วยได้เริ่มขึ้นแล้ว

        ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ 123 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 1001 (เชียงใหม่-พร้าว) มุ่งหน้าสู่โครงการหลวงแม่ปูนหลวง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่นี่เป็นพื้นที่ปลูกบ๊วยใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโครงการหลวง เกษตรกรที่นี่เกือบทุกครัวเรือนจะต้องมีปลูกไว้ บ๊วยพันธุ์แรกที่นำมาปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์เชียงราย มีลักษณะผลกลม ลูกเล็กและดก ต่อมาได้ปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์ไต้หวัน ซึ่งมีผลขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีเกษตรกรในความดูแลของศูนย์ฯ จำนวน 18 ราย ในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ปลูกบ๊วยภายใต้ระบบมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี (GAP) มีเจ้าหน้าที่และนักวิชาการของโครงการหลวงให้ความรู้ คำแนะนำในการดูแลรักษา

          ต้นบ๊วยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม และจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เมื่อบ๊วยมีอายุ 100-120 วัน ผลจะมีลักษณะทรงกลมสีเขียว เมื่อสุกจะสีเหลือง เนื้อนิ่ม รสเปรี้ยวอมหวาน เมล็ดแข็ง เก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ลักษณะผลที่เก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ เก็บเกี่ยวเมื่อผลสีเขียวสด และเก็บเกี่ยวเมื่อผิวผลเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง แต่ยังไม่สุกนิ่ม เก็บผลด้วยมือโดยเด็ดจากกิ่ง ในแต่ละปีจะมีบ๊วยที่ส่งลงมาจำหน่ายประมาณ 1,000 ตัน โดยมีพ่อค้าคนกลางขึ้นไปรับซื้อเพื่อส่งโรงงาน สำหรับของศูนย์ฯ ได้ส่งไปให้โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากบ๊วยต่อไป

            วณิดา ภัทรเกีรยติขจร เกษตรกรชาวล่าหู่ ผู้ปลูกบ๊วย กล่าวว่า ที่บ้านปลูกบ๊วยมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งเมื่อก่อนที่ตรงนี้มีการปลูกฝิ่นเยอะมาก แต่เมื่อฝิ่นเริ่มหายไปชาวบ้านหันมาปลูกเผือกและขิง ต่อมาโครงการหลวงได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยการแนะนำให้ปลูกบ๊วย ก็เลยปลูกกันเกือบทุกบ้าน นอกจากนี้โครงการหลวงยังเข้ามาช่วยเราในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การปลูก ดูแลต้นบ๊วย การเก็บเกี่ยว ตลอดจนถึงการพื้นฟูต้นและการให้ปุ๋ยหลังการเก็บเกี่ยว

“ปัจจุบันชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น จากที่ไม่มีรายได้ที่มั่นคง จนตอนนี้ก็มีรายได้ที่มั่นคง ดีใจที่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะการปลูกผัก ปลูกผลไม้ จากที่มีรายได้น้อย ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น” วนิดา สะท้อนชีวิตความเป็นจากอดีสู่ปัจจุบัน

           บ๊วยเป็นไม้ผลเขตหนาว มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เป็นพืชตระกูลเดียวกับพลัม ลูกท้อ พื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูก ต้องมีอากาศเย็น และสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 เมตรขึ้นไป โครงการหลวงปลูกบ๊วยครั้งแรกที่สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2517 โดยได้นำพันธุ์มาจากประเทศไต้หวัน ได้แก่ พันธุ์ปิงติง และพันธุ์เจนโถว ต่อมาได้ส่งเสริมให้ปลูกอีกหลายพื้นที่ในโครงการหลวง ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบ๊วยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในการนำไปแปรรูป อาทิ ทำเป็นน้ำบ๊วย, บ๊วยแช่อิ่ม, บ๊วยดอง, บ๊วยเค็ม หรือใช้ทำอาหารเช่น น้ำจิ้มบ๊วย, ซอสบ๊วย นอกจากนี้บ๊วยยังเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ขับพิษในร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นต้น

          ท่านที่สนใจผลบ๊วยสดในช่วงนี้ (มีนาคม-เมษายน) สามารถสั่งซื้อได้ที่ ฝ่ายการตลาดมูลนิธิโครงการหลวง เชียงใหม่ โทร.053-222-631 หรือ ฝ่ายตลาด กรุงเทพ ฯ (ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน) โทร.02-579-4747

ที่มา : ปชส.มูลนิธิโครงการหลวง