“อ.ยักษ์”ปลุกจิตสำนึกเกษตรสมัยใหม่

  •  
  •  
  •  
  •  

‘อ.ยักษ์’ ปลุกจิตสำนึกรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเกิดความยั่งยืน ชี้การพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 1–11 เน้นการเพิ่มผลผลิตเพื่อการค้าขาย ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม  และสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติ

            ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการฝึกอบรมหลักสูตร “เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสาน” และบรรยายพิเศษเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกสิกรรมธรรมชาติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า การทำเกษตรกรรมในประเทศไทยแต่เดิมนั้นเป็นการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง มีวิถีแบบพึ่งพิงธรรมชาติ

          ปัจจุบันเน้นการเพิ่มผลผลิตให้ได้จำนวนมาก โดยการปรับปรุงพันธุ์ มีการใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนใช้สารเคมีเพื่อปราบศัตรูพืช แมลง และโรคพืช ซึ่งผลของการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ตั้งแต่ ฉบับที่ 1–11 (2504–2559) มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตเน้นการค้าขาย ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม  เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน  ทรัพยากรน้ำเสื่อมโทรม แหล่งน้ำตื้นเขิน เกิดอุทกภัย ภัยแล้ง สูญเสียสมดุลทางธรรมชาติ แมลงศัตรูพืชเกิดการระบาดอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร ภาระหนี้สินของเกษตรกรที่สูงขึ้น จากราคาของปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่ราคาผลผลิตกลับไม่แน่นอนไม่เป็นสัดส่วนกับราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น 

            นอกจากนี้ ผลกระทบจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ถูกวิธีทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแก่เกษตรกรผู้ผลิต  สารพิษที่ตกค้างในผลผลิตจากการเก็บผลผลิตออกจำหน่ายก่อนครบกำหนด  ระยะเวลาของสารพิษออกฤทธิ์ในสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รัฐบาลจึงมียุทธศาสตร์เปลี่ยนแผนพัฒนามาเป็นการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9-12

[adrotate banner=”3″]

            ทั้งเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยให้สังคมไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง เกิดภูมิคุ้มกัน และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมและเร่งขยายผลแนวคิดการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ รวมถึงการทำเกษตรกรรมตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี

            ด้าน น.ส.ศิริพร บุญชู รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ทำงานสนองต่อนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมและรณรงค์ในการทำการเกษตรยั่งยืน ทั้งในรูปแบบของการส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อบรมให้ความรู้กับเกษตรกร โดยในปี 2561 มีเป้าหมายจัดฝึกอบรมเกษตรกร และบุคคลภายนอก จำนวน 10,454 คน ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 250 โครงการ โดยมีสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ดำเนินการ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ มีการจัดอบรมเกษตรกร จำนวน 80 ราย ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

         วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจถึงหลักการทำกสิกรรมธรรมชาติ ทำให้เกิดแนวคิด และปลุกจิตสำนึกแก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม ให้ได้เห็นคุณค่าของพื้นดิน พื้นน้ำ ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม ทั้งของตนเองและท้องถิ่น เพื่อช่วยกันฟื้นฟู และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และรักษาระบบนิเวศน์ให้เกิดความสมดุล และเกิดความยั่งยืนสืบไป