เนรมิต“สถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ”

  •  
  •  
  •  
  •  

 กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้านโยบายเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่อง ล่าสุดเตรียมเนรมิตจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ” หวังเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม หลังพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แล้วกว่า 1 หมื่นราย ในพื้นที่กว่า 2.2 แสนไร่

          นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมา และวางแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป โดยเน้นย้ำให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ยึดพื้นที่เป็นหลักในการบูรณาการเป็นองค์รวม เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยใช้แนวทางตลาดนำการผลิต พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริโภค ถึงประโยชน์และคุณค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์ และให้มีการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น

         ปัจจุบันมีเกษตรกรผลิตสินค้าอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองจากระบบต่าง ๆ จำนวน 141 กลุ่ม รวม 10,895 ราย พื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 227,137 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำแผนที่เกษตรอินทรีย์ (Organic Agri – map) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ สำหรับการสั่งซื้อโดยตรงจากตัวเกษตรกร และเตรียมจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

[adrotate banner=”3″]

         ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลักดันการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้สอดรับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธนิตย์  เอนกวิทย์) เป็นประธาน และ สศก. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และภาคการศึกษา

         ในส่วนของ สศก. ได้เร่งจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และแสวงหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ด้วยการประสานกับธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) อัตราดอกเบี้ยต่ำ เป้าหมายวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท (ดำเนินการปี 2561 – 2564)

        

         พร้อมกันนี้ยังเสนอกรมศุลกากร แก้ไขเพิ่มเติมรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดอัตราศุลกากร 5 สินค้า คือ ชาใบเขียวอินทรีย์ มะพร้าวอ่อนอินทรีย์ กะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ มังคุดอินทรีย์ และทุเรียนอินทรีย์ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลสินค้าอินทรีย์นำเข้าและส่งออก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

        ทั้งนี้ สศก. จะประมวลผลภาพรวมของประเทศ เพื่อเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่ากากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเร็วๆ นี้ และเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสอดรับกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะสามารถเพิ่มพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ สร้างมูลค่า ขยายช่องทางตลาด และมีการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศได้เพิ่มขึ้น ตอบสนองต่อเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560 – 2564 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภคถึงประโยชน์และคุณค่าของเกษตรอินทรีย์ในระยะยาว

       

          นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ร่วมกับ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข มีผลตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2560 เป็นต้นมา โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 896 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจับคู่กับผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ วางแผนจัดทำเมนูอาหารให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยอีกด้วย