“อ.ยักษ์” ชี้กระทรวงเกษตรฯ กำหนด 4 แนวทางรองรับการเข้าสู่การผลิตปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน ระบุหัวใจสำคัญคือการพัฒนาที่เป็นองค์รวม เน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศด้วยข้อมูลรอบด้าน ด้วยผลงานวิจัยที่ผ่านการพิสูจน์มา แล้วด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศได้อย่างชัดเจน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิด “การสัมมนาเสนอผลงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ กลุ่มเรื่องปาล์มน้ำมัน” และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ“เสริมกำลังชาวสวนปาล์ม นำความยั่งยืนสู่อนาคต” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า ปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าเกษตรที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตที่ยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนจะต้องสอดคล้องกับบริบทไทยที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงความสมดุลในทุกด้าน บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมทั้งระบบมีความสามารถในการพึ่งตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ประเทศไทยผลิตน้ำมันปาล์มเป็นอันดับที่ 3 ของโลก แต่มีส่วนแบ่งด้านการผลิตเพียง ร้อยละ 3 มีการส่งออกน้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันปาล์มเป็นองค์ประกอบปีละหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น สิ่งที่ท้าทาย คือ จะต้องเสริมพลังอย่างไร ให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาได้อย่างสมดุลทั้งตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้ชาวสวนปาล์มน้ำมันมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการเพื่อเสริมกำลัง และสร้างความพร้อมของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับการเข้าสู่การผลิตปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน ดังนี้ 1.โดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการผลิตแบบยั่งยืน สร้างเสริมองค์ความรู้เพื่อการดำเนินการผลิตแบบมืออาชีพ บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถดำรงชีพในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างมั่นคง สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร และสถาบันเกษตร เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน โดยการพัฒนาจะประสบความสำเร็จได้ คนจะต้องเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานการผลิต การปรับการผลิตให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยการผลิตต้องได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกษตรกรได้รับปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการพัฒนาการแบบมีส่วนร่วมระหว่างเกษตรกร และผู้ประกอบการ ตลอดทั้งจัดทำมาตรฐานการผลิตตามหลักสากลที่นานาชาติให้การรับรอง
2.การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ และทุกภาคส่วนมีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล 4. การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน โดยส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ลดการใช้สารเคมี) สนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่เหมาะสม (ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศ) ส่งเสริมการผลิตในลักษณะการฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
“การพัฒนาที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีกลไกที่สำคัญคือการพัฒนาที่เป็นองค์รวม โดยเน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศด้วยข้อมูลรอบด้าน ด้วยผลงานวิจัยที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ทิศทางสถานการณ์โลกก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเฝ้าติดตาม เนื่องจากประชากรของโลกมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ความต้องการด้านอาหาร พลังงาน อาหาร และน้ำ เพิ่มมากขึ้น “” นายวิวัฒน์ กล่าว
[adrotate banner=”3″]
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ในการพัฒนาประเทศ พัฒนาพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือแม้แต่ปาล์มน้ำมัน จึงควรให้เกิดความสมดุล ระหว่างพลังงาน อาหาร และระบบนิเวศ มีการสร้างระบบนิเวศในสวนปาล์ม รักษาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ หากเราสามารถพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน และสามารถบูรณาการเป็นภาพรวมได้ ก็จะส่งผลให้การพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศเกิดความมั่นคง และยั่งยืนได้
ด้าน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในด้านอาหารและพลังงานของประเทศ ในด้านการผลิต มีเกษตรกรประมาณ 200,000 ราย มีผู้รวบรวมผลปาล์มน้ำมัน หรือลานเทประมาณ 1,800 ราย มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากกว่า 500 ราย
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีปัญหาหลายด้านที่ต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไข อาทิ ความไม่สมดุลของการผลิตกับความต้องการ ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่ายังมีน้อย เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงร่วมกับหน่วยให้ทุนต่าง ๆ ดำเนินงานภายใต้ชื่อ “เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ” (คอบช.) ได้กำหนดให้สินค้าปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าหนึ่งภายใต้กรอบงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ มี สวก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในการบริหารเงินทุนวิจัยสำหรับปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ ปี 2556 – ปี 2561 โดยสนับสนุนทุนวิจัยด้านปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสิ้น 295 ล้านบาท 112 โครงการ เพื่อปรุะชาสัมพันธ์ และผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
พร้อมทั้งจัดสัมมนาเสนอผลงานวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ กลุ่มเรื่องปาล์มน้ำมันขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ของปีงบประมาณ 2556-2558 ให้แก่ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้สนใจทั่วไป และผู้ที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการมอบเกียรติบัตรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ปาล์มน้ำมันด้วย