พิษฝนถล่มใต้ สวนยางจม 5.5 ล้านไร่ พบผลผลิตเดือน ธ.ค. หายจากตลาด กว่า 1.4 แสนตัน

  •  
  •  
  •  
  •  

การยางแห่งประเทศไทย เผยฝนตกหนักทั่วภาคใต้ กระทบพื้นที่สวนยางเปิดกรีด 11 จังหวัด กว่า 5.5 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิตยางธันวาคม 2567 หายจากระบบตลาดถึง 1.4 แสนตัน เร่งส่งเจ้าหน้าที่เร่งบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นพร้อมแล้ว ก่อนสำรวจความเสียหายและเยียวยาหลังน้ำลด หากพบเสียหานมากกว่า 20 ต้นต่อแปลงใช้เงิน พร้อมใช้เงินกองทุนพัฒนายางพาราจ่ายรายละไม่เกิน 3,000 บาท

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่หลายอำเภอ ครอบคลุมทั่ว 11 จังหวัด  ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลาซึ่ง กยท. โดยกองวิจัยเศรษฐกิจยาง ฝ่ายเศรษฐกิจยางได้วิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง

โดยใช้ข้อมูลพื้นที่ที่มีฝนตกจากเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยามาอ้างอิงพบกลุ่มฝนฟ้าคะนองและกลุ่มฝนกำลังอ่อน-ปานกลาง ปกคลุมพื้นที่สวนยาง 11 จังหวัด คาดว่ามีสวนยางเปิดกรีดที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง จำนวน 5,592,621 ไร่ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่ดังกล่าว (เดือนธันวาคม 2567) หายไปกว่า 142,963.23 ตัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 24.75 ของผลผลิตยางในเดือนนี้ เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ไม่สามารถออกไปกรีดยาง เครื่องมืออุปกรณ์ในการกรีดยางเสียหาย และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังรอการระบาย ด้วยสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ผลผลิตยางขาดตลาดได้

นายสุขทัศน์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งให้ กยท. ในทุกพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือโดยการมอบถุงยังชีพบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเข้าแจกจ่ายผู้ประสบภัย จัดทำข้าวกล่องและจัดน้ำดื่มมอบให้ชุมชนและโรงพยาบาล และจัดตั้งศูนย์พักพิงโดยเตรียมอาหารเครื่องดื่มห้องละหมาด และห้องสุขาให้ผู้ประสบภัยเข้ามาใช้เป็นจุดพักคอยและสามารถจอดรถได้ รวมถึงบูรณาการ
กับหน่วยงานราชการอื่นๆ และหน่วยบรรเทาสาธารณะภัย

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ กยท. จะเร่งเข้าตรวจสอบสภาพสวนยางของพี่น้องเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ซึ่งหากสวนยางประสบภัยจนเสียสภาพสวน หรือต้นยางได้รับความเสียหายเกิน 20 ต้น/แปลง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กยท. จะจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รายละไม่เกิน 3,000 บาท  นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางอีกรายละไม่เกิน 50,000 บาท แบบปลอดดอกเบี้ยตลอดสัญญา