เปิดตัวเห็ดภูฏานลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ “กวก.สทช.1” เห็ดยอดนิยมมากที่สุดในไทย ผลผลิตสูง ทางเลือกใหม่ของเกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตร เปิดตัว “เห็ดภูฏานลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ กวก.สทช.1” เห็ดยอดนิยมเพาะมากที่สุดในประเทศไทย ผลงานวิจัยและพัฒนาของสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพตามต้องการของตลาด รสชาติดีมีคุณค่างทางโภชนาการสูง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาเห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ใหม่โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของเห็ด ให้มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่ท้าทายอีกทั้งยังมีรสชาติที่ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นเห็ดที่เหมาะกับการบริโภคและสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้หลากหลายรูปแบบ จนได้เห็ด“เห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช.1”ผ่านการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567
                                                                      รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
ลักษณะเด่นของ“เห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช.1” คือสามารถให้ผลผลิตเฉลี่ย 152.68 กรัมต่อถุงอาหารเพาะ (800 กรัม) ต่อรอบการผลิต 2 เดือน ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์เห็ดภูฏาน-3 เดิมที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 127.88 กรัมต่อถุงอาหารเพาะ เพิ่มขึ้น 19.39 เปอร์เซ็นต์ ดอกเห็ดมีสีเทาออกดอกเป็นกลุ่ม โดยแต่ละช่อมีจำนวนดอก 2-13 ดอก ขนาดของดอกเห็ดตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับเห็ดสกุลนางรม (มกษ.1514–2555) โดยขนาดดอกเห็ดแบ่งเป็นรหัสขนาด 1 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 7 เซนติเมตร และรหัสขนาด 2 ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.60 – 7.00 เซนติเมตร
นางสาวรัชฎาภรณ์ ทองเหม นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า เห็ดภูฏานเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทยนิยมเพาะปลูก เนื่องจากสามารถเพาะได้ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเห็ดภูฏานจะเป็นเห็ดที่เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย แต่การผลิตเพื่อการค้ายังคงมีปัญหาด้านคุณภาพของสายพันธุ์ โดยเฉพาะปัญหาความสม่ำเสมอของผลผลิตและคุณภาพดอกเห็ด ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน 
ดังนั้น เกษตรกรจึงมีความต้องการสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะเลี้ยงได้ง่ายในสภาพอากาศปัจจุบัน และมีลักษณะดอกที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มช่องทางในการตลาด  ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์เห็ดภูฏานเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามความต้องการของเกษตรกรทำให้สามารถพัฒนาเห็ดภูฏานลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่สูงขึ้น จนได้“เห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช.1”
 
“เห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช.1 สามารถเพาะได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยในโรงเรือนบ่มเส้นใย ควรรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 25–30 องศาเซลเซียส ส่วนในโรงเรือนเปิดดอก ควรมีอุณหภูมิอยู่ที่ 25–32 องศาเซลเซียสรักษาความชื้นสัมพัทธ์ไว้ที่ 70–90 เปอร์เซ็นต์ ต้องการแสงน้อยในการเพาะ และไม่ควรเพาะเห็ดใกล้แหล่งที่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ หรือใกล้โรงเรือนเพาะเห็ดที่มีศัตรูเห็ด เช่นแบคทีเรีย และไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพาะเห็ด “เห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก. สทช.1” จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร
อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้แก่เกษตรกรไทย ขณะนี้ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร มีการผลิตและจำหน่ายเชื้อพันธุ์เห็ดภูฏานลูกผสมพันธุ์ กวก.สทช.1 ในรูปแบบแม่เชื้อบริสุทธิ์อยู่ที่ปีละ 500 ขวด สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเชื้อพันธุ์เห็ดได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 0-2579-0147 และเมื่อได้รับเชื้อเห็ดแล้วควรใช้ภายใน 15 วัน พร้อมกับใช้เชื้อเห็ดแต่ละขวดให้หมดภายในครั้งเดียว หากยังไม่ใช้ต้องเก็บขวดเชื้อไว้ในที่สะอาด ไม่มีฝุ่นละอองและห้ามถูกแสงแดดโดยตรงอย่างเด็ดขาด”  นางสาวรัชฎาภรณ์  กล่าว