เปิดตัวศิษเก่าโรงเรือนต้นแบบ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อ.วังจันทร์ “เดือน จันอินทร์” ผู้ประสบผลสำเร็จในการทำเกษตรปลอดภัย ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ที่ไม่เพียงแค่เพิ่มผลผลิต หากแต่ยังสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือน และเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย
นายเดือน จันอินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลุงเดือน” เป็นเกษตรกรผู้มีวิสัยทัศน์จากอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง และเป็น 1 ในเกษตรกรจำนวน 9 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง เพื่อเข้าร่วมโครงการขยายผลการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตผักปลอดภัยจากศูนย์การเรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อำเภอวังจันทร์ โดยได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ “โรงเรือนต้นแบบ” หรือ “ฟาร์มอัจฉริยะ” ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมทางการเกษตร (Innovation Agriculture) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและความแม่นยำสูง พร้อมบูรณาการเข้ากับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม
หลังจากเข้าร่วมการอบรม ลุงเดือนได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรที่ “สวนจันอินทร์” ของตนเอง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ดังนั้น ลุงเดือน จึงเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการควบคุมและบริหารสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ธาตุอาหารในดินและน้ำ รวมถึงการวัดความเข้มของแสงและความเร็วลม เพื่อให้สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ตามความต้องการของพืชแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
การปรับใช้เทคโนโลยีนี้ทำให้ลุงเดือนสามารถรักษาความสมบูรณ์ของการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละระยะได้อย่างปลอดภัย แม้จะเผชิญกับข้อจำกัดด้านแรงงาน นอกจากนี้ยังช่วยให้วางแผนการผลิตที่หลากหลาย ปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน ส่งผลให้สามารถกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งในรูปแบบรายวันและรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับครัวเรือนที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากน้ำยางพาราเพียงอย่างเดียว และยังตอบสนองความต้องการของตลาดในชุมชนอำเภอวังจันทร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ และการปรับใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลุงเดือนไม่เพียงแค่เพิ่มผลผลิต แต่ยังสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือน และเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน