นักวิจัยพัฒนาผักกาดหอมสีทองที่มีเบต้าแคโรทีนมากกว่า 30 เท่า

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยชีววิทยาโมเลกุลและเซลล์พืช (Research Institute for Plant Molecular and Cellular Biology – IBMCP) ซึ่งเป็นศูนย์ร่วมของสภาวิจัยแห่งชาติสเปน (Spanish National Research Council – CSIC) และ Universitat Politècnica de València (UPV) ได้พัฒนาวิธีการที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มสารอาหารของใบและ เนื้อเยื่อพืชสีเขียวอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลักของวิตามินเอในอาหารของมนุษย์

เบต้าแคโรทีน เป็นสารตั้งต้นหลักของเรตินอยด์ (retinoids) ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมีที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย (การมองเห็น การเพิ่มจำนวนและการสร้างความแตกต่างของเซลล์ และระบบภูมิคุ้มกัน) รวมถึงวิตามินเอ ทีมวิจัยได้ใช้พืชยาสูบเป็นต้นแบบในห้องปฏิบัติการและผักกาดหอมเป็นต้นแบบในการเพาะปลูก

Manuel Rodríguez Concepción ซึ่งเป็นนักวิจัยของ CSIC ที่ IBMCP สามารถเพิ่มปริมาณเบต้าแคโรทีนในใบได้ โดยไม่ส่งผลเสียต่อกระบวนการสำคัญอื่น ๆ เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสง การศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มระดับเบต้าแคโรทีนในใบ โดยการสร้างตำแหน่งใหม่เพื่อเก็บสารดังกล่าวนอกตำแหน่งของสารสังเคราะห์แสงเชิงซ้อน นักวิจัยสามารถกักเก็บเบต้าแคโรทีนในระดับสูงไว้ในพลาสโตโกลบูล (plastoglobules) ซึ่งเป็นถุงเก็บไขมันภายในคลอโรพลาสต์ (chloroplasts)

การศึกษายังแสดงให้เห็นว่า การสังเคราะห์เบต้าแคโรทีนในพลาสโตโกลบูล สามารถถูกนำมารวมกับการผลิตนอกคลอโรพลาสต์ได้ด้วยวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ Pablo Pérez Colao ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วม กล่าวว่า เบต้าแคโรทีนสะสมอยู่ในถุงที่คล้ายกับพลาสโตโกลบูล แต่อยู่ในไซโตโซล (cytosol) การรวมกันของทั้งสองกลยุทธ์ทำให้ระดับเบต้าแคโรทีนเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าเมื่อเทียบกับใบที่ไม่ผ่านการแก้ไข

การสะสมเบต้าแคโรทีนจำนวนมากยังทำให้ใบผักกาดหอมมีสีทองที่มีลักษณะเฉพาะ การค้นพบว่าเบต้าแคโรทีนสามารถผลิตและเก็บไว้ได้ในตำแหน่งที่นอกเหนือจากที่พบในใบพืช แสดงถึงความก้าวหน้าที่สำคัญมากในการปรับปรุงโภชนาการผ่านการเพิ่มสารอาหารในผัก เช่น ผักกาดหอม ชาร์ด (chard) หรือผักโขม โดยไม่ทิ้งกลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.upv.es/noticias-upv/noticia-14794-superlechugas-en.html