เทคนิคการแก้ไขยีน-จีเอ็มโอ ต้องไปด้วยกัน ในการเปลี่ยนแปลงพืชและอาหารอย่างยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

แม้จะมีฉันทามติทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่สำคัญและการต่อต้านของสาธารณชนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ในขณะที่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมจะเกี่ยวข้องกับการถ่ายฝากดีเอ็นเอแปลกปลอมจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เทคนิคการแก้ไขยีนซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่และตรงเป้าหมายมากขึ้น เช่น CRISPR อาจเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากกว่า CRISPR จะทำการแก้ไขยีนอย่างแม่นยำโดยไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น

ทั่วโลกพยายามที่จะใช้ CRISPR เพื่อพัฒนาอาหาร ให้มีรสชาติดีขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น หรือรับประทานได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่ทำให้พืชมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้น หากอาหารที่แก้ไขพันธุกรรมเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยง “คำสาปจีเอ็มโอ” ได้ ก็จะสามารถสร้างโอกาสใหม่สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางในการจัดการกับความหิวโหย ต่อสู้กับความยากจนและความไม่เท่าเทียม และอาจถึงขั้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย

Tom Adams ซีอีโอของ Paiwise ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในนอร์ธแคโรไลนา (North Carolina) สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ CRISPR กล่าวว่า “หากนักปรับปรุงพันธุ์พืชต้องการคัดเลือกพืชที่มีลัษณะมากกว่า 3 หรือ 4 ลักษณะ ลักษณะที่ 5 6 และ 7 ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้น [CRISPR] จึงเปิดโอกาสให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชทำในสิ่งที่สามารถตอบสนองผู้บริโภค ตอบสนองผู้ปลูก และตอบสนองห่วงโซ่อุปทาน”

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ CRISPR ดูเหมือนจะช่วยขจัดข้อขัดแย้งหลายประการที่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมต้องเผชิญ แต่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับระบบอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

Steven Runo เน้นย้ำว่า เทคนิคพันธุวิศวกรรมแบบดั้งเดิมยังคงมีความสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการตั้งแต่การเสริมอาหารด้วยสารอาหารที่จำเป็น ไปจนถึงการทำให้พืชต้านทานโรค Runo นักชีววิทยาระดับโมเลกุลที่ Plant Transformation Lab ที่มหาวิทยาลัยเคนยัตตา (Kenyatta University) ในเคนยา กำลังทำงานเพื่อผลิตข้าวฟ่างที่ทนทานต่อวัชพืชปรสิต Striga (หญ้าแม่มด)

“เราต้องการทั้ง 2 เทคโนโลยี” เนื่องเพราะ “มีหลายสิ่งที่ CRISPR ทำได้ แต่เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมทำไม่ได้ และยังมีอีกหลายอย่างที่เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมทำได้ แต่ CRISPR ทำไม่ได้”

ครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ Steven Runo ที่กล่าวว่าทั้ง 2 เทคโนโลยี นั่นคือ เทคโนโลยีแก้ไขยีนและเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม มีความจำเป็น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.devex.com/news/how-crispr-gene-editing-technology-could-change-the-way-we-eat-107585