โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิจัยจาก Ryukoku University และ Osaka Metropolitan University ในญี่ปุ่น ได้ปลูกมะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรมที่มีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูง ภายใต้การให้แสงประดิษฐ์ (artificial lighting)
มะเขือม่วงมีแคโรทีนอยด์ (carotenoids คือ เม็ดสีชนิดละลายในไขมัน ที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านมะเร็งที่ยอดเยี่ยม) เช่น เบต้าแคโรทีน (beta-carotene คือ สารตั้งต้นของวิตามินเอ) เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับมะเขือเทศ นั่นคือเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ต้องค้นหาวิธีเพิ่มปริมาณเบต้าแคโรทีนในมะเขือม่วง เพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น
นักวิจัยได้ถ่ายฝากยีน PSY ที่มาจากแบคทีเรีย Erwinia uredovora ให้กับมะเขือม่วง เพื่อให้มีการสะสมเบต้าแคโรทีนเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยพบว่า ปริมาณเบต้าแคโรทีนในมะเขือม่วงที่ปลูกภายใต้แสงประดิษฐ์นั้นสูงกว่ามะเขือม่วงที่ปลูกในเรือนกระจกถึง 5 เท่า อย่างไรก็ตาม ผลกลับมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าการพัฒนาของผลถูกยับยั้งจากการสะสมเบต้าแคโรทีน
ผลการศึกษาที่ได้ ให้ข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาพันธุ์มะเขือม่วงดัดแปลงพันธุกรรม ที่อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนที่สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้สภาพแสงประดิษฐ์
ครับ คงอีกไม่นานจะมีมะเขือม่วงที่มี เบต้าแคโรทีน สูงเหมือนข้าวสีทอง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jstage.jst.go.jp/article/plantbiotechnology/41/1/41_23.1129b/_article