โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
อุรุกวัยต่อสู้กับ New World screwworm (หนอนแมลงวันที่อยู่ในสกุล Chrysomya เป็นหนอนแมลงวันที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง) ที่มาจากประเทศทางตะวันตก มาหลายทศวรรษแล้ว ตัวอ่อนของหนอนแมลงวันที่ฟักออกมาจากไข่ที่ตัวเมียวางไว้ จะมุดเข้าไปในเนื้อวัว ทำให้เกิดบาดแผลร้ายแรงหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจ
เพื่อจัดการกับข้อกังวลนี้ ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวิจัยการเกษตรแห่งชาติ (National Institute of Agricultural Research – INIA) ได้ใช้การขับเคลื่อนยีน (gene drive) เพื่อเพิ่มการแพร่กระจายของยีนหรือกลุ่มของยีนในประชากรแมลงวัน
วิธีการนี้อิงตามการแก้ไขยีนด้วย CRISPR และช่วยให้สามารถควบคุมและกำจัดหนอนแมลงวันได้ โดยการเปลี่ยนแปลงยีนที่ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์และการอยู่รอดหนอนแมลงวัน อุรุกวัยวางแผนที่จะใช้เทคนิคนี้เพื่อกำจัดประชากรหนอนแมลงวัน วารสาร MIT Technology Review รายงานว่า ทีมวิจัยจาก INIA ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2563 ให้ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพ
วิธีการควบคุมอื่น ๆ สำหรับหนอนแมลงวัน ได้แก่ Sterile Insect Technique (SIT) (เทคนิคการฉายรังสีเพื่อทำหมันแมลงวันตัวผู้) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวผู้ที่เป็นหมัน เพื่อส่งผลกระทบต่อการผสมพันธุ์และลดจำนวนประชากร อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำซ้ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเปรียบเทียบกับ SIT การขับเคลื่อนยีนมีความยั่งยืนและราคาถูกกว่า
ครับ นี่เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการควบคุมประชากรของศัตรูทางการเกษตร ซึ่งมีการพูดถึงน้อยมากในประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.technologyreview.com/2024/02/16/1088505/uruguay-gene-drives-screwworms/