ฟิลิปปินส์ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สามของการผลิตข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

ISAAA Inc. เข้าร่วมงาน 20 Years and Onward: Advancing the Future of Philippine Yellow Corn (20 ปีและต่อจากนี้: ความก้าวหน้าของอนาคตข้าวโพดสีเหลืองฟิลิปปินส์) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการศึกษาและวิจัยด้านการเกษตร (Southeast Asian Regional Center for Graduate Study and Research in Agriculture – SEARCA) และ Bayer CropScience Philippines ที่ Makati Diamond Residences เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน รวมถึงกลุ่มธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาลท้องถิ่น เกษตรกร สมาชิกของสถาบันการศึกษา นักวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน

งานนี้ประกอบด้วยการอภิปราย 2 หัวข้อ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม หรือ ที่รู้จักกันในชื่อข้าวโพดสีเหลืองของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าข้าวโพดจะมีความยั่งยืนในระยะยาว การอภิปรายกลุ่มแรกเป็นการทบทวนการพัฒนาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของข้าวโพดสีเหลืองในฟิลิปปินส์

หัวข้อดังกล่าวยังกล่าวถึง ความสำคัญของกฎระเบียบที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช และประโยชน์ที่เป็นไปได้จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการยอมรับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย Dr. Abraham J. Manalo เลขาธิการบริหารกลุ่มพันธมิตรเทคโนโลยีชีวภาพแห่งฟิลิปปินส์ Dr. Candido B. Damo ที่ปรึกษาด้านเทคนิคอาวุโสของโครงการข้าวโพดแห่งชาติ กระทรวงเกษตร และนาย Ramon S. Abadilla กรรมการบริหารของ CropLife Philippines

การอภิปรายกลุ่มที่สองเจาะลึกในหัวข้อเกี่ยวกับผลกระทบของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่มีใบอนุญาต ความจำเป็นในการดูแลและการใช้การปกป้องพืชอย่างมีความรับผิดชอบ แนวทางห่วงโซ่คุณค่าที่ครอบคลุม และเกษตรกรรมเชิงปฏิรูป ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย Dr. Gabriel O. Romero กรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ฟิลิปปินส์ Dr. Analiza Henedina M. Ramirez รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและวิทยาศาสตร์การอาหาร นาย Edwin Mapanao ประธาน Philippine Association of Feed Millers, Inc.; และ นาย Iiinas Ivan T. Lao หัวหน้าฝ่ายการค้าประจำประเทศของ Bayer CropScience

นอกเหนือจากการอภิปรายกลุ่มแล้ว ยังนำเสนอประสบการณ์และความท้าทายของเกษตรกรในอุตสาหกรรมข้าวโพดเหลือง โดย Adriel Dave “AD” Alvarez ซึ่งได้สะท้อนถึงชะตากรรมที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมต้องเผชิญในอาชีพเกษตรกร สรุปได้ว่า ความยากจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้พันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม นอกเหนือจากความช่วยเหลือด้านทุนแล้ว ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับโครงการที่อุทิศตนเพื่อให้คำปรึกษา สาธิต และอำนวยความสะดวกในการยอมรับเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูก

การอภิปรายได้กระตุ้นให้เกิดการสนทนาและยกประเด็นสำคัญระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับเชิญ ในระหว่างการประชุมแบบเปิด Dr. Manalo กล่าวว่า “เสียงร้องของการต่อสู้ คือ การใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ” ตามแนวทางดังกล่าว จึงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจา การสร้างเครือข่าย และการกำหนดนโยบายตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อรับรองความก้าวหน้าของข้าวโพดเหลืองในฟิลิปปินส์ การอภิปรายนี้ปิดท้ายด้วยคำพูดสุดท้ายจาก Dr. Glenn B. Gregorio ผู้อำนวยการ SEARCA เพื่อให้มั่นใจถึงความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวโพดสีเหลือง Dr. Gregorio กล่าวว่า “จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา อุตสาหกรรม และรัฐบาล เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้น โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง”

ครับ ประเทศไทยยังไม่ก้าวเลยครับ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=353047254297237