โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
รัฐบาลไนจีเรียได้อนุญาตให้ปลดปล่อยเชิงพาณิชย์สำหรับพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานแมลงศัตรูและทนแล้ง ที่รู้จักกันในชื่อ “ข้าวโพด TELA” ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมจึงกลายเป็นพืชอาหารชนิดที่ 2 ต่อจากถั่วพุ่มบีที ที่ถูกเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในประเทศ
การอนุญาตดังกล่าว เป็นการอนุญาตจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการตั้งชื่อ การจดทะเบียน และการปลดปล่อยพันธุ์พืช พันธุ์ปศุสัตว์/การประมง (National Committee on Naming, Registration, and Release of Crop Varieties, Livestock Breeds/Fisheries – NCNRRCVLF) เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2567 ในเมือง Ibadan พันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ได้รับการอนุญาต ได้แก่ SAMMAZ 72T, SAMMAZ 73T, SAMMAZ 74T และ SAMMAZ 75T
ข้าวโพดพันธุ์ใหม่นี้ ทนต่อความแห้งแล้งและต้านทานหนอนเจาะลำต้นและหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ส่งผลให้ได้ผลผลิตสูงสุดถึง 10 ตันต่อเฮกตาร์ (1.6 ตันต่อไร่) ภายใต้หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ค่าเฉลี่ยของประเทศสำหรับพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม คือ 6 ตันต่อเฮกตาร์ (960 กก./ไร่) พันธุ์นี้เหมาะสำหรับพื้นที่ในเขต Rain Forest, Guinea, และ Sudan Savannas หนอนเจาะลำต้นทำให้การผลิตข้าวโพดในหลายประเทศในแอฟริกาลดลง ในขณะที่หนอนกระทู้ลายจุดข้าวโพดสามารถทำลายข้าวโพดในแอฟริกาได้มากถึง 20 ล้านเมตริกตันในแต่ละปี ซึ่งเพียงพอที่จะเลี้ยงคนได้ 100 ล้านคน
การปลดปล่อยและขึ้นทะเบียนข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมทั้ง 4 พันธุ์ เป็นไปตามการอนุญาตให้ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จากสำนักงานจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biosafety Management Agency – NBMA) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเพื่อการวิจัยการเกษตร (Institute for Agricultural Research (IAR) Samaru, Ahmadu Bello Zaria University ผ่านทางความร่วมมือที่เรียกว่า TELA Maize Public-Private Partnership ประสานงานโดยมูลนิธิเทคโนโลยีการเกษตรแห่งแอฟริกา (African Agricultural Technology Foundation – AATF) โครงการ TELA Maize มีการดำเนินงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ เอธิโอเปีย เคนยา โมซัมบิก ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้
Dr. Sylvester Oikeh ผู้จัดการโครงการ TELA Maize ยินดีต่อการตัดสินใจของไนจีเรีย และเรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา ดำเนินการเช่นเดียวกันเพื่อเกษตรกร และกล่าวว่า “ขอสนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อความต้องการของเกษตรกร และ ขอแสดงความยินดีกับนักวิทยาศาสตร์สำหรับการทำงานหนักและการอุทิศตนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใกล้ชิดกับเกษตรกรมากขึ้น และหวังว่าจะประเทศอื่น ๆ ตัดสินใจในลักษณะเดียวกันเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร”
ครับ ประเทศไทยเองก็มีปัญหาแล้งและการระบาดของแมลงศัตรูเช่นเดียวกัน แต่เกษตรกรไม่มีโอกาสเลือกใช้พันธุ์ที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aatf-africa.org/press-release-nigeria-commercializes-gm-maize-varieties/