โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิจัยจากสถาบันวิจัยฝ้ายที่อยู่ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรแห่งประเทศจีน ได้ค้นพบยีนที่ควบคุมคุณภาพเส้นใยและลักษณะผลผลิตในฝ้าย ผ่านแผนที่การเชื่อมโยงทางพันธุกรรม (genetic linkage maps) ข้อมูลการแสดงออกภายนอกในหลายสิ่งแวดล้อม (multi-environmental phenotype data) และการศึกษาลักษณะและปริมาณการแสดงออกของยีน(transcriptome studies) ซึ่งผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ใน วารสาร Journal of Advanced Research
Upland cotton (ฝ้ายอเมริกันที่ได้รับการปลูกกันอย่างแพร่หลาย (Gossypium hirsutum) มีเส้นใยสั้นถึงปานกลาง) เป็นแหล่งใหญ่ของเส้นใยธรรมชาติจากพืช การปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายให้ดีขึ้นโดยมีคุณภาพเส้นใยและลักษณะผลผลิตที่ดี เป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิจัย ดังนั้นการค้นหาพื้นฐานทางพันธุกรรมของผลผลิตและคุณภาพเส้นใย จึงมีความสำคัญอย่างมากในการปรับปรุงพันธุ์ฝ้าย
นักวิจัยได้ใช้หลายเทคนิค จนสามารถระบุยีน GhCesA4 ที่ส่งผลต่อลักษณะที่หลากหลายของฝ้าย ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเส้นใยและผลผลิต เช่น ผลในเชิงบวกต่อลักษณะความยาวและความแข็งแรงของเส้นใย และผลในเชิงลบต่อลักษณะเปอร์เซ็นต์เส้นใย
การศึกษานี้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายพร้อม ๆ กันในหลายลักษณะของ Upland cotton
ครับ ฝ้ายยังเป็นพืชที่ควรได้รับความสำคัญเพื่อการวิจัยและพัฒนา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S209012322300379X?via%3Dihub