โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การบรรยายสรุปจาก Royal Society (ราชสมาคมแห่งลอนดอน) ระบุว่า สหราชอาณาจักรจำเป็นต้องมีแนวทางการกำกับดูแลที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์และมีประสิทธิภาพสำหรับพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้บรรลุถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสำหรับการเกษตร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์
เป็นการบรรยายสรุปเกี่ยวกับ นโยบายการใช้งานเทคโนโลยีทางพันธุกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร นำโดยศาสตราจารย์ Jonathan Jones FRS ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มที่ห้องปฏิบัติการเซนส์เบอรี (Sainsbury Laboratory) เมืองนอริช (Norwich) โดยได้อธิบายถึงพัฒนาการล่าสุดในการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีนี้ในหลาย ๆ ประเทศเพิ่มมากขึ้น
เพื่อเพิ่มความต้านทานต่อศัตรูพืชและโรค ปรับปรุงโภชนาการ และยกระดับความทนทานต่อความร้อนและความแห้งแล้ง และรัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้ผ่านพระราชบัญญัติเทคโนโลยีทางพันธุกรรม (การปรับปรุงพันธุ์อย่างแม่นยำ – Precision Breeding) ซึ่งเป็นกรอบการทำงานใหม่สำหรับการควบคุมพืชที่มีการแก้ไขหรือปรับแต่งยีน
ส่วนพืชดัดแปลงพันธุกรรมยังกำหนดอยู่ในกระบวนการกำกับดูแลที่สืบทอดมาจากสหภาพยุโรป โดยต้องมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากจนมีเพียงบริษัทที่ใหญ่ที่สุดเท่านั้นที่สามารถทำตามกฎระเบียบได้ ศาสตราจารย์ Jones ได้ให้เหตุผลว่า แนวทางนี้ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป เมื่อพิจารณาจากหลักฐานจากการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์มานาน 30 ปี
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Jones ระบุว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้มากไปกว่าพืชที่เกิดจากเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์อื่น ๆ และเสริมว่า กฎระเบียบควรมุ่งเน้นไปที่การประเมินความเสี่ยงที่เป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์แทน โดยพิจารณาจากสิ่งที่ทราบเกี่ยวกับลักษณะที่ดัดแปลงพันธุกรรมและชนิดพันธุ์ที่ถูกพัฒนา
ศาสตราจารย์ Jones ที่มีงานวิจัยที่ครอบคลุมการใช้งานพืชดัดแปลงพันธุกรรมหลายชนิด รวมถึงมันฝรั่งที่ทนต่อโรคใบไหม้ ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรต้องฉีดพ่น 15-20 ครั้งต่อปีเพื่อควบคุมโรค และกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องให้อาหารผู้คนอย่างเหมาะสมโดยไม่ทำลายโลก”
ครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดเห็นของศาสตราจารย์ Jones
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://royalsociety.org/news/2023/10/gm-crops/