ผลกระทบด้านความยั่งยืนจะเป็นอย่างไรหากยุโรปอนุญาตพืชแก้ไขยีน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนวิธีการกำกับดูแลพืชแก้ไขยีนในการเกษตร ที่เป็นข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ ซึ่งรัฐสภายุโรปและสภาสหภาพยุโรปจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว หากปฏิเสธการแก้ไขยีน ก็จะมีผลกระทบกับโลกใบนี้อย่างรุนแรง

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปสำหรับการกำกับดูแลพืชที่ถูกดัดแปลงโดยใช้ NGTs (New Generation Technologies เช่น การแก้ไขยีนด้วย CRISPR) เพื่อเปิดโอกาสในการเพาะปลูกพืชในสหภาพยุโรป มีการเสนอให้พืชบางประเภทที่ดัดแปลงโดยใช้ NGTs ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อห้ามสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกในสหภาพยุโรปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยให้ใช้กระบวนการที่ไม่ต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบชนิดและประเภทของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแทนก่อนที่จะบันทึกในฐานข้อมูล เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา

ข้อเสนอในการกำกับดูแลที่เสนอต่อสหภาพยุโรปไม่ได้ยกเว้นผลิตภัณฑ์ใด ๆ ของ NGTs จากกฎระเบียบเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างสมบูรณ์ หรือ ไม่ได้อนุญาตให้ผู้พัฒนาพืช NGTs ตัดสินใจด้วยตนเองว่าผลิตภัณฑ์ของตนจะได้รับการยกเว้นหรือไม่ ในทางทฤษฎี กฎระเบียบที่เสนอต่อสหภาพยุโรปสามารถสนับสนุนความโปร่งใสในขณะที่ทำให้เส้นทางสู่ตลาดทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำได้มากกว่าระบบการกำกับดูแลอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบประเภทของ NGTs ตามที่ระบุไว้ในปัจจุบันอาจถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ และควรหลีกเลี่ยงความล่าช้าที่ไม่สมเหตุสมผล

การแก้ไขยีนสามารถใช้เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างแม่นยำกับยีนของพืช ซึ่งสามารถเพิ่มความทนทานต่อสภาพแล้ง ลดความอ่อนแอต่อโรค และอื่น ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พืชแห่งอนาคตอาจต้องการปุ๋ยน้อยลง สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูน้อยลง ที่ดินน้อยลง และน้ำน้อยลง ในทางกลับกัน โลกอาจถูกเลี้ยงด้วยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่น้อยลง แม้จะมีสิ่งเหล่านี้และประโยชน์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่สหภาพยุโรปก็ยังเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังไม่ยอมรับการแก้ไขยีน แต่ด้วยการผ่านกฎระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้มีการแก้ไขยีนในพืช สหภาพยุโรปสามารถทำให้เกษตรกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

ชนิดของการแก้ไขยีนที่รู้จักกันดีที่สุดคือ CRISPR ซึ่งแก้ไขยีนของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้แตกต่างจากการดัดแปลงพันธุกรรม ที่มีการถ่ายฝากชิ้นส่วน DNA จากชนิดพันธุ์อื่น เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (genetically modified organisms – GMOs) GMOs ที่แพร่หลายมากที่สุดในการเกษตรทั่วโลก คือ พืชที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช (เช่น Roundup Ready) ได้แก่ ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง และคาโนลา และพืชที่ต้านทานแมลงศัตรู เช่น ข้าวโพดและฝ้าย (พืชบีที ที่มียีนจากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ที่สร้างโปรตีนที่เป็นพิษต่อแมลงศัตรูบางชนิดเมื่อกินเข้าไป และป้องกันพืชจากการทำลายของหนอนเจาะสมอฝ้าย) พืชดังกล่าวมีการเพาะปลูกมานานหลายทศวรรษและได้มีการพัฒนาการควบคุมวัชพืช และลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู รวมทั้งลดความเป็นพิษจากสารกำจัดวัชพืช

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว CRISPR นั้นค่อนข้างใหม่และถูกนำมาใช้ครั้งแรกเพื่อการแก้ไขยีนในปี พ.ศ. 2556 จนถึงขณะนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดน้อย ในปี พ.ศ. 2564 พืชที่แก้ไขยีนด้วย CRISPR ชนิดแรกของโลก คือ มะเขือเทศที่มีปริมาณ GABA (gamma aminobutyric acid) เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจลดความดันโลหิตได้ มีจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น และเมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกามีพืชแก้ไขยีนด้วย CRISPR ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผักมัสตาร์ดที่พัฒนาโดย Pairwise ซึ่งไม่มีรสขม เมื่อมองไปข้างหน้า พืชแก้ไขยีนด้วย CRISPR อื่น ๆ ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดภายในปี พ.ศ. 2573 ได้แก่ ข้าวโพดต้านทานการหักล้ม และคาโนลาที่ฝักไม่แตก ซึ่งช่วยลดการสูญเสียพืชผลระหว่างการเก็บเกี่ยว

แม้ว่าในท้องตลาดจะยังไม่มีพืชแก้ไขยีนที่ช่วยเพิ่มความทนทานต่อสภาพแล้ง หรือ ที่ช่วยควบคุมวัชพืชหรือศัตรูพืช แต่การศึกษาเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ที่มีอยู่ก็แสดงให้เห็นถึงประโยชน์บางประการ ก่อนหน้านี้ Breakthrough Institute (สถาบันวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์) ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ข้าวสาลี HB4 ที่ดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งทนทานต่อความแห้งแล้งในอาร์เจนตินา โดยประเมินว่าหากประเทศอาร์เจนตินาเพาะปลูกข้าวสาลีบนพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ปลูกข้าวสาลีในปัจจุบัน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวสาลีในประเทศ สามารถลดลงได้ร้อยละ 34 – 51 และไม่เพียงแต่การปลูกข้าวสาลี HB4 ที่ทนแล้งได้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตร แต่ยังทำให้การเกษตรของอาร์เจนตินามีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดปัญหาการขาดแคลนข้าวสาลีเนื่องจากสภาพการปลูกที่ย่ำแย่ในปีที่แห้งแล้ง ข้าวสาลีรวมถึงข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายที่สุดในสหภาพยุโรป และความแห้งแล้งได้คุกคามการผลิตในปี พ.ศ. 2566 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะสเปน ซึ่งหมายความว่าข้าวสาลีที่มีความทนทานต่อสภาพแล้งดีขึ้นอาจเป็นประโยชน์

ในการวิเคราะห์ของ Breakthrough Institute เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประเมินว่าหากกลุ่มสหภาพยุโรปปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีอยู่แล้วในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ บราซิล แคนาดา และสหรัฐอเมริกา การปลดปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของสหภาพยุโรปอาจลดลงโดยคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของการปลดปล่อยจากการเกษตรทั้งหมดของสหภาพยุโรปเทียบจากปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของผลผลิตพืชในกลุ่มสหภาพยุโรปสามารถลดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก โดยลดการกดดันต่อประเทศที่มีรายได้น้อยในเขตร้อนในการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ปัจจุบัน สหภาพยุโรปนำเข้ากากถั่วเหลืองหลายล้านตันจากบราซิล ซึ่งมีการขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเพื่อการส่งออกมีความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าในอเมซอน การขยายตัวในการผลิตถั่วเหลืองของสหภาพยุโรปสามารถเพิ่มการส่งออกถั่วเหลืองไปยังประเทศที่มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

ศักยภาพของเทคโนโลยีการแก้ไขยีนนั้นมีความชัดเจน แต่ในขณะที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ของ NGTs เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนได้ สหภาพยุโรปกลับยืนหยัดคัดค้าน โดยให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ (ซึ่งไม่อนุญาตสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือ NGTs) และลดปัจจัยการผลิตในวงกว้าง เช่น ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู การปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรมโดยรวม ทำให้สหภาพยุโรปได้พลาดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายทศวรรษ สหภาพยุโรปควรคว้าโอกาสจากข้อเสนอใหม่ของคณะกรรมาธิการเพื่อมีส่วนร่วมในประโยชน์ของพืชแก้ไขยีน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคการเกษตร ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มการผลิตอาหาร และสหภาพยุโรปอาจมีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้

ครับ เรื่องนี้อาจจะยาวหน่อย แต่ผู้เขียนคือ Emma Kovak ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาพืชจาก University of California, Berkeley และเป็นนักวิเคราะห์อาหารและการเกษตรที่ Breakthrough Institute ได้ชี้ให้เห็นว่า สหภาพยุโรปจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการอนุญาตให้เพาะปลูกพืชแก้ไขยีน ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://geneticliteracyproject.org/2023/08/03/viewpoint-what-would-the-sustainability-impact-be-if-europe-approves-gene-edited-crops/