โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การศึกษาในสหราชอาณาจักร เพื่อเปรียบเทียบปฏิกิริยาของผู้บริโภค 200 คนต่อเนื้อสัตว์ธรรมชาติ (conventional meat) เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultured meat) และเนื้อสัตว์จากพืช (plant-based meat) ในประเด็นด้านรสชาติ ความน่ารับประทาน และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดึงดูดใจ ที่น่าสนใจคือ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า มีโอกาสที่จะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับทางเลือกอื่นนอกเหนือจากเนื้อสัตว์ธรรมชาติ โดยพิจารณาจากการรับรู้ด้านสุขภาพ แม้ว่ารสชาติที่คาดหวังไว้จะลดลงและคุณลักษณะเชิงลบอื่น ๆ
ผู้เข้าร่วมในการศึกษา เป็นสมาชิกชุมชนอาสาสมัครและนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) เป็นการตอบคำถามออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นภาพผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งแบบธรรมชาติและแบบไม่ธรรมชาติ ในรูปแบบของเบอร์เกอร์เนื้อ นักเก็ตไก่ แซนวิชชีส ไอศกรีม มัฟฟินบลูเบอร์รี่ และคุกกี้ช็อกโกแลตชิพ สิ่งเหล่านี้ได้รับการจัดอันดับโดยพิจารณาจากรสชาติที่คาดหวัง ความอิ่ม ความพึงพอใจ สุขภาพที่ดี ความเต็มใจที่จะจ่าย และความน่ารังเกียจ
การค้นพบที่สำคัญของการศึกษาระบุว่า ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ธรรมชาตินั้น เป็นที่ยอมรับบางส่วนสำหรับทั้งผู้ที่ทานเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ สิ่งที่ส่งผลต่อความน่าดึงดูดใจของทางเลือกเนื้อสัตว์จากพืชสำหรับผู้ทานเนื้อสัตว์ คือ รสชาติที่แย่ลง และความอิ่มท้องที่ลดลง แม้จะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพสำหรับทดแทนเนื้อสัตว์ธรรมชาติก็ตาม
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้รับการจัดอันดับว่าดีต่อสุขภาพเท่ากันหรือดีต่อสุขภาพมากกว่าสำหรับผู้ทานเนื้อสัตว์ แต่พบว่าน่ารังเกียจกว่าเนื้อสัตว์ธรรมชาติ อาจเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค ซึ่งทำให้สร้างการรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การติดฉลากเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงว่า “ปลอดการฆ่าสัตว์ (slaughter-free) ” สามารถใช้เป็นหลักประกันสำหรับสวัสดิภาพสัตว์และเพิ่มความน่าดึงดูดใจสำหรับผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์
ผลลัพธ์อาจนำไปใช้กับการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในอาหารที่รัปทาน เนื่องจากการรับรู้ที่มากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพสามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมทางเลือกของเนื้อสัตว์จากพืชแทนเนื้อสัตว์ธรรมชาติ ในขณะที่อย่างน้อยก็ต้องรักษาสมดุลของรสชาติที่น่าพึงพอใจและความอิ่มท้องที่ลดลง และสำหรับผลิตภัณฑ์เพาะเลี้ยง ต้องลดระดับความน่ารังเกียจ
ครับ เคยลองทานแล้วเนื้อสัตว์จากพืช ถ้าไม่คำนึงถึงรสชาติ และความอิ่มท้อง ก็น่าจะทดแทนเนื้อสัตว์ธรรมชาติได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S0195666322004858