พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ได้รับการอนุญาตทุกชนิดมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

บทความในเรื่องนี้ เป็นความคิดเห็นของ Charles R. Santerre, Ph.D. College of Agriculture, Forestry, and Life Sciences Director for Ag Policy Development และเป็นศาสตราจารย์ที่ Clemson University ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำรงตำแหน่งประธานภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร โภชนาการ และการบรรจุ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยสรุปได้ดังนี้

ทุกวันนี้ มีการถกเถียงกันมากว่าการเกษตรมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ควรพัฒนาการผลิตและแปรรูปอาหารต่อไป ในขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายจากการเกษตร ซึ่งหากผ่อนคลาย (การกำกับดูแล) เทคโนโลยีชีวภาพ คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นอย่างมาก และก็จะไม่ถูกขอให้ละทิ้งสเต็กจานโปรด

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically modified organisms – GMOs) ถูกพัฒนาขึ้นโดยการย้ายยีนไปยังพืชหรือสัตว์ ด้วยยีนที่เพิ่มเข้ามานี้จะสร้างโปรตีนชนิดใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับพืชหรือสัตว์ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดบีที มียีนเพิ่มเติมที่สร้างโปรตีนที่ขัดขวางแมลงบางชนิด การใช้ CRISPR-Cas9 ซึ่งเป็นวิธีการที่ใหม่กว่า จะช่วยให้สามารถแก้ไขยีนของสิ่งมีชีวิตได้แม่นยำยิ่งขึ้น และไม่จำเป็นต้องเพิ่มยีนจากสายพันธุ์อื่น บางคนไม่ต้องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มาจากการแก้ไขจีโนมว่าเป็น GMOs เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากมีนัยเชิงลบเกี่ยวกับฉลาก GMO

ไม่ว่าจะหมายถึงพืชหรือปศุสัตว์ที่ดัดแปลงด้วยวิธีพันธุวิศวกรรม (ย้ายยีนจากสายพันธุ์หนึ่งไปยังอีกสายพันธุ์หนึ่ง เช่น GMOs) หรือวิธีการแก้ไขจีโนม ก็ยังไม่พบว่า ไม่มีความปลอดภัยของเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรได้ถูกบันทึกไว้ ไม่พบว่ามีความเจ็บป่วยใด ๆ เกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารที่มาจากเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งบริโภคโดยผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก

ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพได้รับการควบคุมโดย USDA, FDA และ EPA (ของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งประสานงานโดยสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาว (White House’s Office of Science and Technology Policy) เมื่อมีการเผยแพร่พืชดัดแปลงพันธุกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 หน่วยงานของรัฐบาลกลางมีเหตุผลที่ดีที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้จากประสบการณ์ที่มีมาตลอด 25 ปี กระบวนการอนุญาตควรได้รับการปรับปรุง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการตรวจสอบ

ขั้นตอนการตรวจสอบของรัฐบาลกลางในปัจจุบันกำลังขัดขวางหน่วยงานขนาดเล็ก มหาวิทยาลัย บริษัทขนาดเล็ก และสิ่ง USDA-Agricultural Research Service ซึ่งส่งผลต่อการปกป้องสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในบรรดาพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ได้รับการอนุญาต ในจำนวน 100 ชนิดหรือมากกว่านั้น มีเพียง 3 ชนิด (มะละกอ พลัม และ flax) ที่ได้รับการพัฒนาโดยหน่วยงานขนาดเล็ก เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบมีราคาแพงและใช้เวลานาน อุปสรรคด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่ (Bayer, Syngenta, BASF และ Corteva) ให้มีการพัฒนาพืชหลักที่มีกำไรมากกว่า การมุ่งเน้นเฉพาะพืชหลักทำให้ไม่สามารถป้องกันการตายอย่างช้า ๆ ของกล้วยคาเวนดิช (กล้วยหอม) ซึ่งเป็นกล้วยชนิดเดียวของเราที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก

การกีดกันบริษัทขนาดเล็กออกจากตลาดด้วยอุปสรรคด้านกฎระเบียบจะลดนวัตกรรมและการแข่งขัน และขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อยกเว้น ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพบางอย่างได้รับการพัฒนาโดยหน่วยงานขนาดเล็ก ตอนนี้มีมันฝรั่งเและแอปเปิ้ลดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ช่วยลดปริมาณเศษอาหารโดยชะลอการเกิดผิวสีน้ำตาลเมื่อหั่นบาง ๆ ยีนที่ผลิตเอนไซม์ polyphenol oxidase ซึ่งทำให้เกิดสีน้ำตาลของเอนไซม์เมื่อพื้นผิวที่ถูกตัดสัมผัสกับอากาศได้ถูกทำให้หยุดหน้าที่ลง

อาจเป็นวิธีปฏิบัติที่น่าสนใจในการตรวจสอบและทบทวนกฎระเบียบที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดใดที่เป็นอันตราย เป็นไปได้ไหมว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นอันตรายมีเพียงชนิดเดียว คือ พืชที่ย้ายรหัสยีนสำหรับสารก่อภูมิแพ้ไปยังพืชที่ไม่เคยมีมาก่อน หากเป็นกรณีนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบกฎระเบียบควรสมดุลกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นักเศรษฐศาสตร์อ้างถึงความล่าช้าเหล่านี้ว่าเป็นค่าเสียโอกาสที่มาจากกฎระเบียบ ตัวอย่างเช่น หากเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเช่นเดียวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม จะมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนก่อนที่จะมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเส้นแรกในรถยนต์ ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 เวลาโดยประมาณที่ใช้ในการตรวจสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรม คือ 16.5 ปีและมีค่าใช้จ่าย 43 ล้านดอลลาร์ แน่นอนว่าหน่วยงานของรัฐบาลกลางจะสามารถลดเวลาการตรวจสอบให้เหลือเพียงหนึ่งปีในขณะที่ลดต้นทุนไปด้วย

ข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพที่ผ่านการอนุญาตทุกชิ้นมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีข้อยกเว้น ตัวอย่างเช่น พืชดัดแปลงพันธุกรรมจำนวนมากได้

  • ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั่วไป
  • ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อม
  • ลดอันตรายต่อสายพันธุ์ที่ไม่ใช่เป้าหมาย จากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษน้อยลง
  • ลดการพังทลายของดิน จากการลดจำนวนครั้งที่เกษตรกรจะต้องเข้าไปในแปลงเพื่อพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และไถพรวน
  • ลดปริมาณเศษอาหาร จากการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้

เราน่าจะเห็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งขึ้นจากพืชเหล่านี้ ผ่านทางผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยการผลิตที่ลดลง และผลกระทบต่อดิน น้ำ และอากาศที่น้อยลง โดยสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินการอยู่ คือ

  • พืชยืนต้นที่ต้องปลูกใหม่ทุก ๆ 2 – 3 ปีเท่านั้น
  • พืชที่ตรึงไนโตรเจน เช่น พืชตระกูลถั่ว เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ปุ๋ย
  • พืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย
  • พืชที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจก
  • พืชที่สามารถย่อยสลายดินที่ปนเปื้อนได้

เทคโนโลยีชีวภาพเป็นวิธีที่น่าตื่นเต้นและได้ผลดีที่สุดในการลดผลกระทบของการผลิตและการแปรรูปอาหารที่มีต่อสภาพอากาศ ศักยภาพของเทคโนโลยีชีวภาพต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล

ครับ ประเด็นหลัก ๆ น่าจะ เป็นเรื่องของการขอให้ปรับปรุงการกำกับดูแล ที่แต่เดิมต้องใช้เวลานานและใช้งบประมาณสูง โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีรายงานใด ๆ ในเรื่องของความไม่ปลอดภัย และการเสียโอกาสในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.acsh.org/news/2023/02/08/agricultural-biotechnology-will-help-environment-less-regulatory-hurdles-16862