โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสมบัติ
ระหว่างการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหประชาชาติ (UN Biodiversity Conference – COP15) กรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
กรอบสำคัญที่สนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก มีจุดมุ่งหมาย (goals) 4 ข้อ และ 23 เป้าหมาย (targets) ภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้คำมั่นว่าจะปกป้องร้อยละ 30 ของผืนดิน มหาสมุทร พื้นที่ชายฝั่งทะเล และน่านน้ำของโลก การนำเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปใช้เพื่อการอุดหนุนประจำปีของรัฐบาลที่สงวนไว้เป็นสิ่งจูงใจแทนการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่อาจไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดตั้งกองทุนทรัสต์พิเศษ (Special Trust Fund หรือ การลงทุนพิเศษบนพื้นฐานความเชื่อใจ) ที่เรียกว่า Global Environment Facility ซึ่งจะใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบ
Maria Helena Semedo ผู้อำนวยการ FAO ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) กล่าวในการประชุมสุดยอดว่า “การประชุมสุดยอด COP15 ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกรอบการทำงานสำหรับอนาคตได้รับการตกลง” และ “ตอนนี้เรามีเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้และมีกลไกทางการเงินโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นก้าวย่างที่สำคัญ”
ข้อตกลงประกอบด้วยการสนับสนุนที่สำคัญจาก FAO ซึ่งมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่า ความต้องการและผลกระทบของระบบเกษตรอาหารได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม
ครับ เป็นที่น่ายินดีที่สามารถบรรลุข้อตกลง สิ่งสำคัญที่จะต้องติดตามต่อคือการปฎิบัติเพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่วางไว้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cbd.int/article/cop15-cbd-press-release-final-19dec2022