โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ขอเริ่มศักราชใหม่ด้วยข่าวสารนี้ครับ!
พืชดัดแปลงพันธุกรรมมีความสำคัญมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ต้องต่อสู้กับความไม่มั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พืชดัดแปลงพันธุกรรม เป็นพืชที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีรีคอมบิแนนต์ดีเอ็นเอ เพื่อปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางพันธุกรรมของพืช ที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย และคาโนลา ลักษณะที่โดดเด่นที่สุด 2 ประการของพืชดัดแปลงพันธุกรรม คือ ความทนทานต่อสารกำจัดวัชพืชและการต้านทานแมลงศัตรู
ความทนทานต่อสารกำจัดวัชพืช หมายถึงวัชพืชน้อยลง พืชที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืชจะไม่ตายหรือเหี่ยวเฉา เมื่อได้รับการพ่นสารกำจัดวัชพืชที่ไม่ต้องการ ซึ่งส่งผลให้มีการไถพรวนน้อยลง David Baltensperger หัวหน้าภาควิชาดินและพืชศาสตร์แห่ง Texas A&M University กล่าวว่า การปลูกพืชที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช จะช่วยให้การผลิตเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้พื้นที่ปลูกเต็มไปด้วยวัชพืช ยิ่งไปกว่านั้น พืชที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืช จะส่งผลให้มีการใช้สารกำจัดวัชพืชน้อยลงและการไถพรวนน้อยลง
การไถพรวนเป็นการทำลายระบบรากของวัชพืช แต่ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากดินสู่ชั้นบรรยากาศ เช่นเดียวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการไถพรวน พืชที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืชต้องการการไถพรวนน้อยกว่า ดังนั้นจึงมีก๊าซเรือนกระจกน้อยลง และเกษตรกรสามารถลดการพังทลายของดิน รวมทั้งได้ผลผลิตที่ดีขึ้น
ความต้านทานต่อแมลงศัตรู หมายถึง การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู การปล่อยมลพิษและของเสียน้อยลง พืชสามารถถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อต้านทานแมลงศัตรูที่เป็นอันตรายได้ โดยการรวมโปรตีนจากแบคทีเรียที่กำจัดแมลงศัตรู และเรียกพืชนั้นว่า “พืชบีที (Bt)” เกษตรกรที่ปลูกพืชบีทีเพื่อควบคุมแมลงศัตรู จะไม่ต้องพ่นสารเคมีอันตรายซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องจักรที่ใช้ในการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู
ครับ พืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่เพียงแต่จะช่วยในการผลิตพืชที่เหมาะสมแล้ว ยังส่งผลต่อการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://pk.usembassy.gov/u-s-embassy-statement-genetically-engineered-crops-are-safe-can-survive-floods-and-slow-climate-change/