โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การวิเคราะห์โดยทีมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ นำโดย Rothamsted Research ในสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ เปิดเผยว่า ศักยภาพของพันธุกรรมที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ของข้าวสาลีแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตข้าวสาลีทั่วโลกเป็นเพียงครึ่งเดียวจากที่ควรจะเป็น
ทีมงาน กล่าวว่า ช่องว่างผลผลิตทางพันธุกรรม’ (genetic yield gaps)นี้สามารถลดได้โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีที่เหมาะกับแต่ละภูมิภาคโดยใช้ความผันแปรทางพันธุกรรมของข้าวสาลีที่มีอยู่ในธนาคารเชื้อพันธุกรรมด้วยเทคนิคสมัยใหม่ เช่น speed breeding ซึ่งเป็นเทคนิคการปลูกพืชในร่ม ทำให้เวลาเก็บเกี่ยวสั้นลง (เร็วขึ้น 2-3 เท่า) และการแก้ไขยีน
นี่เป็นการวิเคราะห์ในระดับโลก ที่พิจารณาจากพื้นที่ปลูกข้าวสาลีทั้งหมด 53 แห่ง ใน 33 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมสภาพแวดล้อมที่ปลูกข้าวสาลีทั่วโลกทั้งหมด
ทีมงานได้คำนวณผลผลิตที่เป็นไปได้จากข้าวสาลี 28 สายพันธุ์ที่ใช้ปลูกกันทั่วไปที่ในพื้นที่เหล่านั้นโดยใช้แบบจำลองข้าวสาลีที่เรียกว่าซีเรียส (Sirius)โดยสมมติว่ามีสภาพการเพาะปลูกที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละพื้นที่
จากนั้นทีมงานได้ออกแบบพันธุ์ข้าวสาลีในอุดมคติ (idealize) ภายใต้แบบจำลองซึ่งจะปรับลักษณะพืชหลายอย่างให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตและพันธุกรรมพื้นฐานที่จะช่วยให้พันธุ์ข้าวสาลีได้รับการพัฒนาโดยนักปรับปรุงพันธุ์พืช
การจำลองนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับลักษณะต่างๆ รวมทั้งความทนทานและการตอบสนองต่อความแห้งแล้งและความเครียดจากความร้อน ขนาดและทิศทางของใบบนที่จับแสง และระยะเวลาของเหตุการณ์สำคัญในวงจรชีวิต
ผลการวิจัยพบว่า เมื่อคุณลักษณะสำคัญเหล่านี้ได้รับการปรับให้เหมาะสม ช่องว่างผลผลิตทางพันธุกรรมอาจลดลงได้ร้อยละ 30-70 ในพื้นที่ปลูกของประเทศต่างๆ โดยมีช่องว่างผลผลิตทางพันธุกรรมเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 51
ทีมงานสรุปว่า การผลิตข้าวสาลีทั่วโลกสามารถเพิ่มเป็น 2 เท่าได้โดยการลดช่องว่างผลผลิตทางพันธุกรรมที่มีอยู่เพื่อบรรลุความมั่นคงด้านอาหารของโลกอย่างยั่งยืน
ครับ มีการพูดถึงพันธุ์พืชในอุดมคติกันมานานแล้ว แต่ในทางปฎิบัติยังต้องการเวลาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ และคาดหวังกันว่าการแก้ไขยีนซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุด น่าจะช่วยลดช่องว่างผลผลิตทางพันธุกรรมได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rothamsted.ac.uk/news/global-wheat-production-can-be-doubled-shows-study