โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนามะเขือเทศแก้ไขยีนเพื่อให้มีโปรวิตามินดี 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินดี ในปริมาณที่มีอยู่ในไข่สองฟองหรือในทูน่าหนึ่งช้อนโต๊ะ
การปลูกทดสอบมะเขือเทศแก้ไขยีนในสภาพแปลงทดลอง คาดว่าจะเริ่มในสหราชอาณาจักรในเดือนหน้า (มิถุนายน 2565)และหากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของวิตามินดี
ชาวอังกฤษประมาณร้อยละ13-19 มีวิตามินดีในระดับต่ำ ซึ่งเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อการรักษากระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แหล่งที่มาหลัก ๆ ของวิตามินดีมาจากการที่ผิวหนังได้รับแสงแดด ซึ่งจะเปลี่ยนโปรวิตามินดี 3 ให้กลายเป็นวิตามินดีในรูปแบบออกฤทธิ์ที่ร่างกายสามารถใช้ได้
อย่างไรก็ตาม ในสหราชอาณาจักรมีแสงแดดเพียงพอสำหรับช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ซึ่งหมายความว่าจะต้องพึ่งพาวิตามินดีจากแหล่งอาหารอื่น ๆ เช่น ปลาที่มีกรดไขมันสูง เนื้อแดง ไข่แดง และเห็ด หรืออาหารเสริม นี่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ทานมังสวิรัติ เนื่องจากอาหารเสริมหลายชนิดมีลาโนลิน(lanolin)จากขนแกะ
Guy Poppy ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton)กล่าวว่า มะเขือเทศแก้ไขยีนเพื่อสะสมโปรวิตามินดี3 ในระดับที่สูงกว่าหลักเกณฑ์ด้านอาหารที่แนะนำ อาจส่งผลให้หลาย ๆ คน มีสุขภาพที่ดีขึ้นเนื่องจากมะเขือเทศเป็นอาหารที่เข้าถึงและรับประทานได้ง่าย
ครับ นี่คือศักยภาพของเทคนิคการแก้ไขยีนที่ไม่ควรมองข้าม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/science/2022/may/23/scientists-create-tomatoes-genetically-edited-boost-vitamin-d-levels