โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
วันนี้เป็นเรื่องของกล้วยที่เป็นโรคตายพราย หรือโรคปานามา(panama disease)โรคนี้ได้ทำลายกล้วยหอมทอง (Gros MichelBanana) ราบเป็นหน้ากลองตั้งแต่ปี 2493 ซึ่งเกิดจากเชื้อราสายพันธุ์ TR1 และพบว่า เชื้อราตัวเดียวกันแต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ได้เริ่มเข้าทำลายกล้วยสายพันธุ์คาเวนดิช หรือกล้วยหอมเขียว(Cavendish variety) ที่นิยมบริโภคมากที่สุด มีพื้นที่ปลูกเกือบร้อยละ 50 ของการผลิตกล้วยทั้งโลก ตั้งแต่ปี 2533
Nicolas Roux หัวหน้าโครงการกล้วยที่ Bioversity International ในฝรั่งเศส บอกว่า แนวทางแก้ไขคือการส่งเสริมความหลากหลาย (ของสายพันธุ์กล้วยหอม) และเรียกร้องให้มีการพัฒนาวิธีการที่เป็นมาตรฐานเพื่อคัดกรองเชื้อพันธุกรรมกล้วยที่เป็นไปได้ทั้งหมด
โดยให้ความสำคัญกับพันธุ์กล้วยที่บริโภคได้มากที่สุด ผลการคัดกรองเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า กล้วยป่าหลายชนิดมียีนที่ต้านทานต่อเชื้อราสายพันธุ์ใหม่TR4 การปรับปรุงพันธุ์แบบคลาสสิก (แบบเดิมที่ทำอยู่) หรือการปรับปรุงพันธุ์โดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์เพื่อพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานต่อ TR4 และยังต้องเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า อาจต้องใช้เวลานาน 10-15 ปี
แต่มีแนวทางแก้ไขใหม่ที่ใช้เวลาสั้นลง เช่นการดัดแปลงพันธุกรรม ด้วยวิธีพันธุวิศวกรรมหรือการแก้ไขยีน ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย
Nicolas Roux จึงเสนอแนะว่า “เนื่องจากเราไม่แน่ใจว่าวิธีการเดิม ๆ จะให้ผลลัพธ์ตามต้องการ เราจำเป็นต้องใช้เทคนิคใหม่เหล่านี้อย่างน้อยก็ในระดับการวิจัยควบคู่กันไป เนื่องจากมันช่วยให้เราเข้าใจพันธุกรรมและชีววิทยาของกล้วยที่ซับซ้อนมากนี้ได้ดีขึ้น”
ครับ เห็นด้วยอย่างยิ่ง เราไม่สามารถละเลยเทคโนโลยีใหม่ ๆ นี้ได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.foodnavigator.com/Article/2021/11/23/Banana-sector-ripe-for-innovation-amid-price-wars-and-disease-threat