อินเดียสำเร็จพัฒนาถั่วลูกไก่ดัดแปลงพันธุกรรมที่ ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง มีสารอาหารเพิ่ม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

     นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยจีโนมพืชแห่งชาติ (National Institute of Plant Genome Research – NIPGR) ในอินเดียประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ถั่วลูกไก่ (chickpeas) ดัดแปลงพันธุกรรม สายพันธุ์ desi ที่ให้ผลผลิตสูง

     กลุ่มวิจัยใช้ยีน cytokinin oxidase/dehydrogenase ของถั่วลูกไก่ที่แสดงออกภายใต้โปรโมเตอร์ยีน WRKY31 ของถั่วลูกไก่ โปรโมเตอร์ยีน WRKY31 ได้ถูกใช้เพื่อปรับระดับไซโตไคนินในราก (cytokinin เป็นสารกระตุ้นการแบ่งเซลล์และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ โดยเฉพาะในส่วนของลำต้นและราก ) และได้มีการตรวจสอบผลกระทบของการพร่องของไซโตไคนินในการเจริญเติบโตและโครงสร้างของระบบราก

     รวมทั้ง ต่อผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิตของถั่วลูกไก่ สายพันธุ์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการพัฒนาไปสู่รุ่นที่สี่ (T4) และผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ในรุ่นT4 มีความทนทานต่อสภาวะที่มีน้ำจำกัดเป็นช่วง ๆ และมีปริมาณแร่ธาตุในเมล็ดสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายของรากที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยไม่มีผลกระทบด้านลบต่อการเติบโตของต้น

     สายพันธุ์ถั่วลูกไก่ดัดแปลงพันธุกรรมนี่ ให้ผลผลิตเมล็ดสูงขึ้นร้อยละ 25 และเมล็ดมีธาตุสังกะสี เหล็ก โพแทสเซียม และทองแดงในระดับที่สูงขึ้นด้วย

   ครับ เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะต่อการส่งเสริมเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งสารอาหาร และทนต่อสภาวะเครียด

    อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://globalplantcouncil.org/scientists-developed-a-high-yielding-bio-fortified-drought-tolerant-desi-chickpea-variety/