ผลทดลองข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม “Tela” ในไนจีเรีย ทนแล้ง เพิ่มผลผลิตถึง 3 เท่า ลดต้นทุน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

       เมื่อเร็วๆนี้มูลนิธิเทคโนโลยีการเกษตรแห่งแอฟริกา (African Agricultural Technology Foundation – AATF) รายงานว่า ข้อมูลจากการทดลองภาคสนามที่ถูกจำกัด (confined field trial)ครั้งที่ 3 ของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมที่ทนแล้งและต้านทานแมลงศัตรูแสดงผลเป็นที่โดดเด่น

      ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่เรียกว่า Tela เป็นคำที่มาจากภาษาละติน ‘tutela’ ซึ่งหมายถึง ‘การป้องกัน’ การทดลองภาคสนามซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ที่สถาบันวิจัยการเกษตร(Institute of Agricultural Research – IAR)ในไนจีเรีย แสดงให้เห็นว่าข้าวโพดพันธุ์ Tela ให้ผลผลิต 9 ตันต่อเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ =6.25 ไร่) ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ข้าวโพดที่ผลิตได้ดีที่สุดในประเทศที่ให้ผลผลิตเพียง 3 ตันต่อเฮกตาร์

     Prof. Mohammad Ishiyaku ผู้อำนวยการบริหาร IAR กล่าวว่า ด้วยศักยภาพในการให้ผลผลิตที่สูงนี้ ข้าวโพดพันธุ์Tela จึงเหมาะสมที่สุดที่จะช่วยอุดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งขาดดุล 6 ล้านเมตริกตัน

     นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถลดต้นทุนจากการปลูกข้าวโพดพันธุ์นี้ โดยคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านไนรา(nairas – สกุลเงินของไนจีเรีย) จากการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบนพื้นที่ 500 เฮกตาร์ และอีกกว่า 6 พันล้านไนราจากผลกระทบจากภัยแล้ง

     AATF ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ Tela ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสานงานโดย AATF กับระบบการวิจัยการเกษตรแห่งชาติในเอธิโอเปีย เคนยา ไนจีเรีย โมซัมบิก แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย และยูกันดา ศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีระหว่างประเทศ (International Maize and Wheat Improvement Center – CIMMYT) และBayer Crop Science

     ครับ เป็นที่น่ายินดีกับเกษตรกรในประเทศที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aatf-africa.org/nigeria-transgenic-maize-trial-produces-outstanding-results/