โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
โรคไข้เลือดออกและมาลาเรียติดต่อโดยมียุงเป็นพาหะ และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนทั่วโลกทุกปี การขับเคลื่อนยีน (Gene drives)โดยใช้ยุงดัดแปลงพันธุกรรม เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และใช้แรงงานน้อยเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคไวรัสที่มีความร้ายแรง
การสัมมนาผ่านเว็บในหัวข้อ การขับเคลื่อนยีนสามารถขจัดโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคได้หรือไม่ซึ่งถ่ายทอดสดผ่าน Zoom เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 และจัดโดยองค์การ ISAAA ร่วมกับศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Information Centers) และ Outreach Network for Gene Drive Researchได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ ไต้หวัน และอิตาลีให้พูดคุยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยีนเพื่อบรรเทาโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคและข้อจำกัด
Prof. EngEongOoi แห่งโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของ Duke-NUS Medical School ในสิงคโปร์ได้ให้ภาพรวมของโรคมาลาเรียและไข้เลือดออกในแอฟริกาและเอเชียในปัจจุบัน ซึ่งมีคนนับล้านติดเชื้อทั้งสองโรคทุกปี และบางกรณีโดยเฉพาะในเด็กส่งผลให้เสียชีวิต
ในขณะที่บริษัทยายังคงพัฒนายาต้านมาเลเรียและยาต้านไข้เลือดออกเพื่อควบคุมโรค แต่ประสิทธิภาพของยาเหล่านี้อาจลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือแม้กระทั่งล้มเหลวในการทดลองก่อนที่จะได้รับการอนุมัติ
การขับเคลื่อนยีนเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยบรรเทาโรคได้ โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกติดต่อโดยมียุงเป็นพาหะ ซึ่งเป็นแมลงที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน เมื่อผู้ติดเชื้อถูกยุงกัด ยุงจะกลายเป็นพาหะของไวรัส และเมื่อไปกัดคนอื่น พวกเขาก็จะติดเชื้อไปด้วย
วัฏจักรเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปและโรคก็แพร่กระจาย บางครั้งก็ควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันมีการใช้วิธีการแบบดั้งเดิม เช่น การพ่นสารเคมีเพื่อควบคุมประชากรยุง แต่วิธีการเหล่านี้มีราคาแพงและใช้แรงงานมาก การขับเคลื่อนยีนจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและคุ้มค่ากว่า
Dr. Maria Vittoria Mancini จากศูนย์จีโนม พันธุศาสตร์ และชีววิทยา (Polo di Genomica of the Genetica e Biologia)ในอิตาลี สนับสนุนคำกล่าวของ Prof. EngEongOoi และนอกเหนือจากข้อดีของการขับเคลื่อนยีนแล้ว
Mancini ยังอธิบายถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยี เช่น ประสิทธิภาพที่ลดลงของเทคโนโลยีเมื่อเวลาผ่านไป การรับรู้ของสาธารณชนและข้อกังวลด้านจริยธรรม กฎระเบียบระหว่างประเทศ และผลกระทบต่อระบบนิเวศ ในขณะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นสำหรับนวัตกรรมเพิ่มเติมในการแทรกแซงการควบคุมพาหะนำโรค การอภิปรายที่โปร่งใส ครอบคลุม และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินอย่างรับผิดชอบและการพัฒนาเทคโนโลยีการควบคุมทางพันธุกรรมก็มีความสำคัญเช่นกัน
ผู้เปิดรายการสัมมนาผ่านเว็บ คือ Dr. Mahaletchumy Arujanan ซึ่งเป็น ISAAA Global Coordinator และดำเนินรายการโดย Dr. Sheetal Silalจาก Modeling and Simulation Hub Africa ที่ University of Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ และ Dr. Rhodora Romero-Aldemitaผู้อำนวยการ ISAAA SEAsiaCenter เป็นผู้กล่าวปิดการประชุม
สามารถชมคลิปการสัมมนาฉบับเต็มได้ที่ช่อง YouTube ขององค์การISAAA การสัมมนาในตอนต่อไปในชุดของ Gene Drive Webinar Series คือ ข้อพิจารณาด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแลสำหรับการวิจัยการขับเคลื่อนยีน มีกำหนดในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และเปิดให้ลงทะเบียนได้แล้ว
ครับ เรื่องดี ๆ ที่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่น่าติดตามครับ