โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
เมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่การศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคใหม่ด้านจีโนม (new genomic techniques – NGTs) ที่แสดงให้เห็นว่าเทคนิคดังกล่าว มีศักยภาพที่จะนำไปสู่ระบบอาหารที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวัตถุประสงค์ของ European Green Deal (แผนนโยบาย Green Deal ที่ต้องการสร้างสังคมที่ไร้มลพิษ) และ Farm to Fork Strategy (กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร)
การศึกษายังพบว่า กฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในปัจจุบัน ที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2544 ไม่เหมาะสมที่จะนำมาบังคับใช้กับเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเหล่านี้ ขณะนี้คณะกรรมาธิการจะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางและเปิดกว้าง เพื่อหารือเกี่ยวกับการออกแบบกรอบกฎหมายใหม่สำหรับเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้
การศึกษานี้จัดทำขึ้นหลังจากได้รับการร้องขอจากสภาแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 โดยขอให้คณะกรรมาธิการดำเนินการ “การศึกษาตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในกรณี C-528/16 เกี่ยวกับสถานะของเทคนิคใหม่ด้านจีโนมภายใต้กฎหมายสหภาพ ” ข้อค้นพบหลักของการศึกษาคือ:
– ผลิตภัณฑ์ NGT มีศักยภาพที่จะนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยพืชจะมีความต้านทานต่อโรค ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีสมบัติทางโภชนาการที่สูงขึ้น เช่น ปริมาณกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ และลดความต้องการปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น สารป้องกันกำจัดฆ่าแมลงศัตรู
– ด้วยการมีส่วนร่วมที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของสหภาพยุโรปในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความยั่งยืนของระบบอาหาร ตลอดจนเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น NGTs สามารถให้ประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนของสังคมเรา
– ในขณะเดียวกัน การศึกษายังวิเคราะห์ข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ NGT และการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต ความกังวลนั้นรวมถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่ร่วมกันกับเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่ไม่ใช้การดัดแปลงพันธุกรรม รวมถึงการติดฉลาก
– NGT เป็นชุดเทคนิคที่หลากหลายและสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน โดยผลิตภัณฑ์จากพืชบางชนิดที่ผลิตโดย NGT มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับพืชที่ปรับปรุงพันธุ์ตามปกติ เพื่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์และต่อสิ่งแวดล้อม
– การศึกษาพบว่ามีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์สำหรับ NGT และผลิตภัณฑ์บางชนิด และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ให้เข้ากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การศึกษานี้จะถูกนำไปหารือกับรัฐมนตรีสหภาพยุโรป (EU ministers) ที่สภาเกษตรและการประมง (Agriculture and Fisheries Council) ในเดือนนี้ และคณะกรรมาธิการจะหารือเกี่ยวกับผลการวิจัยนี้กับรัฐสภายุโรปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สนใจทั้งหมด
ครับ การแก้ไขและออกกฎหมายในสหภาพยุโรป แม้ว่าจะมีขั้นตอนในการทำต่างจากประเทศไทย แต่สามารถออกกฎหมายในเรื่องของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมได้เร็วกว่ามาก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_21_1985