นักวิจัยใช้ CRISPR เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นยูคาลิปตัสกลายเป็นพืชรุกราน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

      ทีมวิจัยระหว่างประเทศที่นำโดย Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ยูคาลิปตัสซึ่งเป็นพืชป่าที่ต้านทานศัตรูพืช และมีมูลค่าของเนื้อไม้ที่แข็งแรงและน้ำมันที่ส่งเสริมสุขภาพสามารถดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อไม่ให้สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เป็นพืชที่บุกรุกระบบนิเวศพื้นเมือง

     ทีมวิจัยนี้นำโดย Steve Krauss จาก Oregon State University ทีมงานได้ใช้เทคนิคการแก้ไขยีน CRISPR-Cas9 เพื่อกำจัด LEAFY ซึ่งเป็นยีนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างดอก Estefania Elorriaga นักศึกษาระดับปริญญาเอก และ Cathleen Ma ผู้ช่วยวิจัย ก็ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ที่ University of Colorado, Beijing Forestry University และ University of Pretoria ในการทำการวิจัย ในเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับลูกผสมระหว่างชนิดพันธุ์ Eucalyptus grandis และ E. urophylla ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในซีกโลกใต้

      จากข้อมูลของ Elorriaga ร้อยละ7 ของป่าไม้ทั่วโลกเป็นพื้นที่ปลูกป่า และร้อยละ 25 ของพื้นที่ดังกล่าว เป็นพันธุ์ที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองและเป็นพันธุ์ลูกผสม

       “ยูคาลิปตัสเป็นไม้ป่าชนิดหนึ่งที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย ประมาณ 35.6 ล้านไร่ในบราซิล 28.1ล้านไร่ในจีนและ 24.4ล้านไร่ในอินเดีย” Elorriaga ตั้งข้อสังเกตว่า การปลูกในพื้นที่เหล่านั้นสามารถนำไปสู่การผสมผสานที่ไม่พึงปรารถนากับระบบนิเวศพื้นเมือง และการกำจัดความสามารถในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของต้นไม้เหล่านั้นจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสในการแพร่กระจายในพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทางนิเวศวิทยาหรือเศรษฐกิจที่สำคัญ

     ครับ เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ CRISPR ในการลดโอกาสการแพร่กระจายของต้นยูคาลิปตัส ในระบบนิเวศพื้นเมือง

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://today.oregonstate.edu/news/research-suggests-eucalyptus-trees-can-be-genetically-modified-not-invade-native-ecosystems