ประโยชน์ที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

    การศึกษาในอดีตได้ชี้ให้เห็นว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระดับหนึ่ง แต่การประเมินครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมอาจมีส่วนร่วมมากกว่าที่รายงานไว้ก่อนหน้านี้

    นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการศึกษานี้เน้นย้ำว่า การศึกษาก่อนหน้านี้ ไม่ได้รวมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas – GHG) ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิตของพืชดัดแปลงพันธุกรรม และการวิเคราะห์ครั้งใหม่นี้ได้รวมต้นทุนค่าเสียโอกาสคาร์บอน (carbon opportunity cost – COC) สำหรับการใช้ที่ดินเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตได้ลดความจำเป็นในการเคลียร์พื้นที่ใหม่สำหรับการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นการป้องกันการปลดปล่อย CO2 เพิ่มเติม

    นักวิจัยได้ใช้วิธีการที่พัฒนาโดย Searchingerและคณะ ในปี 2561 เพื่อทำการประเมินเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตของพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพิ่มขึ้น ในการทดสอบ นักวิจัยได้มุ่งเน้นไปที่สหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากสหภาพยุโรปไม่ได้ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่างแพร่หลาย และอยู่ระหว่างการประเมินนโยบายพืชดัดแปลงพันธุกรรมอีกครั้ง

      การให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรปช่วยให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบสถานการณ์สมมติ ในการยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมกับสภาพที่เป็นอยู่ และการวิเคราะห์จะช่วยให้ได้เห็นภาพรวมของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ยังระบุลักษณะความต้านทานแมลงศัตรูและลักษณะทนทานสารกำจัดวัชพืชในพืชดัดแปลงพันธุกรรมหลัก 5 ชนิดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์

     เนื่องจากลักษณะเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยเพิ่มผลผลิตพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับองค์ประกอบ 2 ส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ COC ของการใช้ที่ดินและการปล่อยก๊าซจากการผลิต (production emissions – PEM ).

     ตัวเลขที่เกิดขึ้นหลังจากการวิเคราะห์พบว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถลดลงได้ 33 ล้านเมตริกตันเทียบเท่ากับ CO2 ต่อปี (MtCO2e / ปี) ถ้ามีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในสหภาพยุโรป ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.5 ของการปล่อย GHG ทางการเกษตรของสหภาพยุโรปทั้งหมดในปี 2560 สำหรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมหลักทั้ง 5 ชนิดที่ระบุไว้ในการศึกษานี้ มีค่า COC มากกว่าร้อยละ 84 ของศักยภาพที่จะหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเมื่อเทียบกับค่า PEM

      สิ่งนี้เน้นถึงความสำคัญของ COC เมื่อประเมินผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตทางการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จากนั้นนักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า เมื่อการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพของพืชดำเนินต่อไป จะมีลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแต่ละลักษณะจะมีผลกระทบต่อผลผลิตที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านยีน ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความหลากหลายของลักษณะที่พึงปรารถนา

      ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตที่มากขึ้นในพืชจำนวนมาก อาจนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น นักวิจัยสรุปว่า การประมาณการที่ 33 MtCO2e / ปี อาจเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของประโยชน์ที่เป็นไปได้ของโลกในอนาคตของพืชดัดแปลงพันธุกรรม สำหรับการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

     ครับ พอจะกล่าวโดยสุรปได้ว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.02.10.430488v1