เกษตรกรบังคลาเทศที่ปลูกมะเขือม่วงบีที รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

     การศึกษาชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) แห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือม่วงบีทีในบังคลาเทศ ได้รับผลตอบแทนและรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเพิ่มความต้านทานแมลงศัตรู ด้วยวิธีการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Bioengineering and Biotechnology พบว่า พันธุ์มะเขือม่วงบีที 4 พันธุ์ ให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เที่ยบกับพันธุ์มะเขือม่วงที่ไม่ใช่บีที และมีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 21.7

     การศึกษานี้ นำโดย Dr. Anthony Shelton ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาและอดีตผู้อำนวยการ หุ้นส่วนการพัฒนามะเขือม่วงของเอเชียใต้เพื่ออาหารและอนาคต (Feed the Future South Asia Eggplant Improvement Partnership) ซึ่งได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมะเขือม่วงบีที 4 พันธุ์ ตลอดห่วงโซ่การตลาดของบังคลาเทศ และผู้บริโภค เป็นครั้งแรก

     การสำรวจดำเนินการใน 5 เขตการผลิตมะเขือม่วงที่สำคัญที่สุดในบังคลาเทศ ได้แก่ Rangpur, Bogra, Rajshahi, Jessore และ Tangail ผ่านการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือม่วงบีทีจำนวน 195 คน และเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกมะเขือม่วงบีทีจำนวน 196 คน

      จากเกษตรกรที่ปลูกมะเขือม่วงบีที พบว่า ร้อยละ 83.1 พอใจกับผลผลิตที่ได้รับ และร้อยละ 80.6 พอใจกับคุณภาพของผลผลิต อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกมะเขือม่วงบีที มีความพอใจกับผลผลิตที่ได้รับเพียงร้อยละ 58.7 และร้อยละ 28 กล่าวว่า ผลมะเขือม่วงส่วนใหญ่ถูกทำลายจากหนอนเจาะต้นและผล (eggplant fruit and shoot borer – EFSB) ซึ่งไม่เกิดกับมะเขือม่วงบีที ที่มีความต้านทานต่อ EFSB เนื่องจากผลผลิตที่สูงขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพของผลที่ดีขึ้น ประมาณ 3 ใน 4 ของเกษตรกรที่ปลูกมะเขือม่วงบีที วางแผนที่จะปลูกมะเขือม่วงบีทีอีกครั้งในฤดูกาลหน้า

      ครับ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างจากหลาย ๆ ตัวอย่าง ของประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเมื่อปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม เมื่อไหร่ประเทศไทยจึงอนุญาตให้ปลูก

      อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fbioe.2020.00498/full