ยินดีกับเกษตรกรเคนยา ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

       หลังจากรอคอยมานานหลายปีประเทศเคนยา ก็เริ่มทำการปลูกฝ้ายบีทีเชิงพาณิชย์เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ผ่านมา เปรียบเป็นรุ่งอรุณของวันใหม่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายในประเทศเคนยา ที่เป็นการปลูกในพื้นที่นอกเขตกักกัน ในระหว่างการเปิดตัวที่จัดขึ้นที่ Alupe University ทางตะวันตกของเคนยา ปัจจุบันประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่ 7 ในแอฟริกา ที่ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมเชิงการค้า

        การปลูกครั้งนี้เป็นการปลูกแปลงสาธิตแปลงแรกจาก 1,000 แปลง ใน 23 เขตพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรอย่างน้อย 40,000 คน ได้เรียนรู้ก่อนที่จะมีการปลูกเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบในประเทศ ความก้าวหน้าล่าสุดนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อการปลูกฝ้ายบีทีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562

       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเคนยา นาย Peter Munyaเ ปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายบีทีมากกว่า 200,000 เอเคอร์ในปี 2565 เพื่อสร้างงานให้กับชาวเคนยากว่า 25,000 คน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งโอกาสในการทำงานเหล่านี้จะเป็นการเพาะปลูกแปรรูปหรือค้าขายเสื้อผ้า และเสื้อผ้าที่ผลิตในท้องถิ่น

      เขา กล่าวอีกว่า การเพาะปลูกฝ้ายบีที โดยเกษตรกรเคนยาจะเป็นการประกันในเรื่องของการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการแปรรูปฝ้าย ดังนั้นจึงเป็นการสนับสนุน การเพิ่มมูลค่าและการสร้างงานในห่วงโซ่คุณค่า

       รัฐบาลให้การสนับสนุนการปลูกฝ้ายบีที เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเพิ่มการสนับสนุนภาคการผลิตสู่จีดีพีของประเทศจากปัจจุบันร้อยละ 9.2 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2565 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุวาระ ‘Big Four’ ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวการพัฒนาเศรษฐกิจของเคนยา การปลูกฝ้ายบีทีเชิงพาณิชย์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เริ่มต้นในปี 2544 เมื่อมีการนำฝ้ายบีทีมาทดลองปลูกเป็นครั้งแรก และปลูกในสภาพแปลงทดลองที่มีการควบคุมในปี 2547 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2553

      ในเดือนกันยายนปี 2561 องค์กร ISAAA AfriCenter ได้จัดทัศนศึกษาโครงการฝ้ายบีทีของอินเดียสำหรับผู้กำหนดนโยบายของเคนยาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่น ๆ ในระหว่างการทัวร์ผู้กำหนดนโยบายสัญญาว่าจะติดตามในเรื่องของการเพาะปลูกพืชจีเอ็มในประเทศอย่างเร่งด่วน

      ปัจจุบันฝ้ายบีทีมีปลูกใน 15 ประเทศทั่วโลกครอบคลุมพื้นที่ 24 ล้านเฮกเตอร์ ประเทศที่ปลูกฝ้ายบีทีมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย (11.6 ล้านเฮกตาร์) สหรัฐอเมริกา (5.06 ล้านเฮกตาร์) และจีน (2.93 ล้านเฮกตาร์) เคนยาเป็นประเทศผู้เข้าร่วมปลูกฝ้ายบีทีล่าสุดในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีแอฟริกาใต้ ซูดาน เอธิโอเปีย มาลาวี   ไนจีเรีย และ eswatini ที่มีการปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมมาก่อนแล้ว

       ครับ เป็นที่น่ายินดีกับเกษตรกรชาวเคนยา ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม และเมื่อไหร่เราจะยินดีกับเกษตรกรชาวไทยบ้างครับ ท่านคิดว่ารัฐบาลครที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้หรือไม่?

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.isaaa.org/kc/cropbiotechupdate/article/default.asp?ID=18017