โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การผลิตพืชในปัจจุบันต้องใช้ปัจจัยในการผลิตหลายอย่าง เช่น ปุ๋ยสารเคมีแรงงานและน้ำ สำหรับน้ำส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตพืชนั้น ได้มาจากน้ำฝนและน้ำชลประทานและพืชบางชนิดต้องการน้ำมากกว่าพืชชนิดอื่นเพื่อการเจริญเติบโต เช่น ข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำมากที่สุด และยังเป็นพืชที่มีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
การจัดการจีโนมข้าวไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด โครงการข้าวสีทองเกิดขึ้นในปี 2542 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดวิตามินเอซึ่งส่งผลให้เกิดอาการตาบอดในหลายประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก งานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การสังเคราะห์แสง ความทนทานต่อความแห้งแล้ง และการลดก๊าซมีเทนในข้าวก็อยู่ในระหว่างการศึกษา และที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นต้องการการดัดแปลงพันธุกรรม
การต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ในอาหาร ทำให้ไม่มีความคืบหน้าในโครงการที่ผู้ก่อตั้งเชื่อว่า สามารถช่วยคนได้หลายพันล้านคนที่กินข้าวทุกวัน การใช้จีเอ็มโอเป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์และบริษัทจำนวนมากเลือกที่จะไม่พูดถึง เพื่อหลีกเลี่ยงการดูถูกเหยียดหยาม และความท้าทายด้านกฎระเบียบ
Agrisea (บริษัททางการเกษตรในนิวซีแลนด์) กำลังนำแนวทางที่แตกต่างไปในด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยต้องการปลูกข้าวในมหาสมุทรโดยใช้วิธีการแก้ไขยีน (Gene Editing) ที่สามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนที่ควบคุมความทนทานต่อเกลือที่พบในข้าว และข้าวที่ทนเค็มสามารถปลูกได้ในน้ำทะเลโดยไม่ต้องใช้ดินปุ๋ยหรือน้ำจืด ซึ่งแทนที่จะถ่ายฝากยีนจากชนิดพันธุ์อื่น Agriseaได้ระบุยีนที่ควบคุมการขับไล่เกลือการหุ้มเซลล์และการป้องกันสารพันธุกรรม และเพิ่มการแสดงออกของยีนเหล่านั้น
Luke Young ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Agrisea กล่าวว่า ยีนเหล่านี้เมื่อนำมารวมกันจะทำหน้าที่ในลักษณะของเครือข่ายเหมือนกับที่ทำหน้าที่ในธรรมชาติ โดยใช้การคัดเลือกพันธุ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกในข้าว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน แต่การใช้วิธีการแก้ไขยีนจะสามารถทำได้เร็วขึ้น
ครับ อีกหนึ่งความพยายามที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวทนเค็ม ไม่ทราบว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่า ประเทศไทยควรส่งเสริมการใช้วิธีการแก้ไขยีนในการพัฒนาพันธุ์พืช
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.forbes.com/sites/ariellasimke/2020/02/21/you-may-find-salt-tolerant-rice-growing-in-the-ocean-by-2021/#8f89b484133f